นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คลังพร้อมที่จะกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่ได้มีปัญหาติดอยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงคมนาคมยังไม่ได้เสนอรายละเอียดโครงการ รวมทั้งแผนการกู้เงินมาให้พิจารณาว่าจะต้องการใช้เงินกู้เท่าใด ซึ่งการกู้เงินไม่ใช่ปัญหา สามารถกู้ได้ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รวมถึงกู้จากจีนก็ได้หากมีข้อเสนอที่ดี โดยเม็ดเงินลงทุนมูลค่าโครงการ 1.7 แสนล้านบาท คลังบรรจุแผนการกู้เงินเต็มจำนวนไว้แล้วในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งสามารถทำได้ทันที

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนที่ยังไม่ยอมลงทุนในประเทศตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะการลงทุนของภาคเอกชนต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น ความจำเป็นการลงทุน ความคุ้มค่าจากการลงทุน ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนยังน้อยแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการทางภาษีหักลดหย่อนได้ 1.5 เท่า จากการทุนในปีนี้ แต่กฎหมายก็ยังติดปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้เร่งให้กฎหมายนี้มีผลออกมาบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ภาคเอกชนลงทุนในประเทศไม่มาก แต่มีการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไปต่อว่าเอกชนไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ดี ทำให้สินทรัพย์ในต่างประเทศลดลงมาก เช่น สินทรัพย์เคยราคา 100 บาท ลดลงเหลือ 50 บาท ทำให้นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก

“หากพิจารณาการลงทุนเอกชนที่เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นได้ชัดว่ามีรายได้ขยายตัวถึง 20% มากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ประมาณ 3% เป็นเพราะมีรายได้จากการไปลงทุนต่างประเทศขยายตัวมาก”นายอภิศักดิ์ กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งดึงดูดภาคเอกชนให้มาลงทุนในประเทศมากขึ้นต่อเนื่องไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ โดยการส่งเสริมให้ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม (นิวเอสเคิร์ฟ) การลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งมีนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะดึงดูดให้นักลงทุนในประเทศลงทุนตามในที่สุด

สำหรับการดึงเอกชนมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตอนนี้พบว่าเอกชนไม่สนใจลงทุน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับแนวคิดการดำเนินเรื่องนี้ใหม่ จากเดิมที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นจุดการค้าชายแดนที่สำคัญ โดยดึงดูดนักลงทุนให้เปลี่ยนฐานการผลิตไปอยู่ชายแดนใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่นักลงทุนจำนวนมากเห็นว่าไม่คุ้ม ดังนั้นอาจจะปรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้สนับสนุนกิจการเอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะ เพราะในต่างจังหวัดมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก แต่เรื่องดังกล่าวยังเป็นแนวคิดจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ต้องเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบ

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า คลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ที่มาลงทะเบียนประมาณ 14 ล้านคน คืบหน้าไปแล้ว 80-90% ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง แต่ละมาตรการที่ช่วยเหลือกำหนดชัดเจนว่าจะให้ผู้มีรายได้น้อยคนละเท่าไร โดยจะให้ผ่านทางบัตรผู้มีรายได้น้อย ที่จะแจกให้กับผู้ลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนที่จะเริ่มแจกมาตรการในวันที่ 1 ต.ค. 2560 นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน