นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะดำเนินการใช้ใน 4 ด้าน คือ 1. พลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสาขาเกษตร และท่องเที่ยวที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของเกษตรจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหรือเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเกษตรเพิ่มมูลค่า โดยใช้นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ ส่วนท่องเที่ยวจะเน้นเชิงคุณภาพ โดยระยะแรกจะเน้นส่งเสริมไทยเที่ยวไทยก่อน ระยะต่อไปจะมีการกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยอาจทำข้อตกลงในการส่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศในบางประเทศที่ต้องการมาฟื้นฟูสุขภาพ และหนีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเข้ามาในลักษณะเช่าเหมาลำ

2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน โดยเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะให้น้ำหนักลงทุนในส่วนนี้มากที่สุดเกือบ 50% หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเน้นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนในการส่งออกที่ไม่เหมือนเดิม สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งบทเรียนจากโควิด-19 ในครั้งนี้ เมื่อการท่องเที่ยวมีผลกระทบ ทำให้หลายๆ กิจการต้องปิดตัวลง คนที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต้องกลับภูมิลำเนา ฉะนั้นเงินกู้ดังกล่าวจะนำไปสร้างงานเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนที่กลับไปภูมิลำเนาของตัวเอง โดยจะเน้นไปที่การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัย เกษตรทฤษฏีใหม่ และท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งพัฒนาส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรให้นำไปขายในช่องทางออนไลน์

3. การกระตุ้นการบริโภค ภาคครัวเรือนและเอกชน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ในระยะสั้นช่วงที่ยังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้อย่างเต็มที่นัก ดังนั้นจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวประเทศไทย ซึ่งหลังการล็อกดาวน์ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีความสมบูรณ์กลับขึ้นมา ดังนั้นจะมีแพคเกจส่วนลดค่าโรงแรมที่พัก ร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยรัฐบาลอาจจะให้รูปแบบคล้ายเดิมคือ นำไปหักลดหย่อนภาษี ขณะที่รัฐบาลจะแบกรับค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป

4. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับแผนงานในด้านที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ ระบบโลจิสติกส์และดิจิตอลแพลตฟอร์ม

สำหรับกรอบระยะเวลาพิจารณาโครงการ หรือไทม์ไลน์ โดยได้ให้ราชการกระทรวง ส่งโครงการต่างๆ กลับเข้ามาภายในวันที่ 5 มิ.ย. หรือมีระยะเวลาจากนี้ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นภายในวันที่ 15 มิ.ย. ทางอนุกรรมการฯ จะพิจารณาโครงการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าประมาณต้นเดือนกค.นี้ โครงการต่างๆ จะทยอยอนุมัติและเงินจะเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนก.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทนี้ ก็จะมารับช่วงต่อจากเงินเยียวยา 5,000 บาท (วงเงินรวม 5.55 แสนล้านบาท) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน