นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมหารือกับสสว. เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการแก้ไขร่างระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโครงการภาครัฐ เพื่อเตรียมเสนอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังพิจารณา โดยเบื้องต้นกำหนดสัดส่วนให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไม่ต่ำกว่า 30% ของมูลค่าโครงการ คาดว่ามีความชัดเจนภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564

“เดิมการจัดซื้อจัดจ้างกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศ 30% หรือต่ำกว่า ซึ่งทำให้ภาพรวมการใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศต่ำมาก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างทั้งประเทศที่มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นหลังจากแก้ไขร่างดังกล่าวแล้วจะทำให้สัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี”

นอกจากนี้ สสว. ยังได้จัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีในระบบบิ๊ก ดาต้า เพื่อให้เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลผู้ประกอบการของประเทศที่จะสามารถสะท้อนแนวโน้มธุรกิจและรองรับแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีได้ต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายดึงเอสเอ็มอีเข้ามาอัพเดตความเคลื่อนในฐานข้อมูล 7 แสนรายภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเข้าเป็นสมาชิกแล้วประมาณ 1 ล้านราย แต่มีการแจ้งความเคลื่อนไหวเพียง 3 แสนราย ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ สสว. ต้องการดึงเอสเอ็มอีทั้งประเทศเข้าระบบทั้งหมดที่คาดว่ามีประมาณ 3.1 ล้านราย

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า การจัดทำฐานข้อมูลเป็นประโยชน์ในการนำไปวิเคราะห์วางแผนธุรกิจ แนวโน้มของตลาด เทรนด์ของธุรกิจ และแนวทางการเริ่มธุรกิจใหม่ รวมทั้งแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้ฐานข้อมูลนี้ ช่วยยกระดับธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยปีนี้ สสว. คาดอัตราการขยายตัวของเอสเอ็มอี (จีดีพีเอสเอ็มอี) ติดลบ 5.6% ถึงติดลบ 6.3% คิดเป็นสัดส่วน 35% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ปีนี้คาดติดลบ 5-6%

ทั้งนี้ ยอมรับว่าประมาณการณ์จีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้ติดลบมากกว่าจีดีพีของประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่เอสเอ็มอีของไทยเป็นภาคบริการที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ทัวร์ สปา ร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงและยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินกิจการได้เป็นปกติ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากกิจการในกลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 2 นี้ก็มีโอกาสที่จีดีพีเอสเอ็มอีจะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม หากการลงทะเบียนข้อมูลของผู้ประกอบการมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญช่วยให้ สสว. สามารถดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการได้ตรงจุด เข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือกองทุนดอกเบี้ยต่ำได้ทันท่วงที เหมาะกับความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และมีความพร้อมในการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อยอดการดำเนินธุรกิจสู่ตลาดสากลได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน