คณะกรรมการนโยบายการเงิน หั่นจีดีพีปี’63 หนักสุดในประวัติศาสตร์ติดลบถึง 8.1% สาหัสกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง – เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50%

กนง.หั่นจีดีพีติดลบ8.1% – นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

นอกจากนี้ กนง. ยังได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายติดลบ 8.1% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 5.3% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยายตัวติดลบ 10.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 8.8% และคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าติดลบ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 1.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ติดลบถึง 13.8% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 4.3% โดยมีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้น ที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 5.8% เท่าคาดการณ์เดิม ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ 5% จากเดิมที่คาดว่าไว้ 3%

“ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการ กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการ กนง. จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้”นายทิตนันท์ กล่าว

นายทิตนันท์ กล่าวอีกว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ คณะกรรมการ กนง. ได้มีการประมาณการเป็นพื้นฐาน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์อีก ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกลับมารุนแรงอีกหรือไม่

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ติดลบลึกที่สุดในไตรมาส 2/2563 เพราะผลกระทบโควิด-19 กระทบทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้ในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจติดลบมาก และช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวแบบติดลบน้อยลงเรื่อยๆ ก่อนจะกลับมาเป็นบวกในปีหน้า ส่วนจะฟื้นตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในการประชุม กนง. ได้มีการหารือว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตการประกอบอาชีพของประชาชน จึงจำเป็นที่รัฐบาบต้องมีการทำมาตรการในด้านของอุปทาน ให้มีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

“รัฐบาลต้องดูว่าจะทำอย่างไร ให้แผลเป็นในภาคธุรกิจและครัวเรือนมีผลกระทบน้อยลง ถ้าผ่านไปได้ การฟื้นตัวก็จะเข้มแข็ง และควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกเหนือจากนโยบายในการกระตุ้นด้านอุปสงค์ การดำเนินนโยบายด้านอุปทานต้องทำควบคู่กันไปด้วย”นายทิตนันท์ กล่าว

นายทิตนันท์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยมาจากค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลักและภูมิเอเชีย โดย กนง. มองว่าจะมีผลกระทบกับผู้ส่งออก ดังนั้นจึงให้ทีมงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินมาตรการจำเป็นเพิ่มเติมในระยะเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเกินดุลมาก แต่ไม่มากเหมือนเดิม จนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ประเทศต่างๆ ในโลก มีการทำนโยบาย QE เพิ่มสภาพคล่อง จะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชีย ซึ่ง กนง. จะจับตาดูแลสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ล่าสุดที่ -8.1% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เศรษฐกิจไทยขยายตัว -7.6%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน