รัฐบาล-เอกชนรับมือ‘หนี้เสีย’
ระเบิดลูกใหญ่-รอการปะทุ

รัฐบาล-เอกชนรับมือ‘หนี้เสีย’ ระเบิดลูกใหญ่-รอการปะทุ – ผลกระทบจากโควิด-19 จนทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศล็อกดาวน์มาหลายเดือน ก่อนที่จะค่อยๆ เปิดทีละเฟสๆ จนปัจจุบันแทบจะเปิดกิจกรรมการค้าทั้งหมดแล้ว

กระนั้นก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องยาวนาน ทำให้หลายกิจการประสบปัญหาปิดตัว มีคนตกงานจำนวนมาก

ธนาคารโลกประเมินว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ไทยมีคนตกงานหรือรายได้ลดไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน และคนไทยที่มีรายได้ไม่ถึง 170 บาท/วัน เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็นเกือบ 10 ล้านคน

สิ่งที่ตามมาไม่พ้นปัญหา ‘หนี้เสีย’ หรือเอ็นพีแอล ในระบบการเงินของไทย

แม้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกมาตรการต่างๆ มาเยียวยา แต่เหมือนจะไม่เพียงพอ

“ปีนี้ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนจะปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ส่งผลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งระบบสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ของสินเชื่อทั้งระบบ เพราะวิกฤตโควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจหดตัว ทั่วโลก” นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าว

รัฐบาล-เอกชนรับมือ‘หนี้เสีย’ ระเบิดลูกใหญ่-รอการปะทุ

นายปรีดี ดาวฉาย

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ลามไปทั่วโลกรุนแรงยิ่งกว่าสมัยต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เพราะปัญหาเศรษฐกิจเกิดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก การจะให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติจึงต้องใช้เวลาและจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง

นายปรีดีมองว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเห็นตัวเลขหนี้เสียที่ชัดเจน แต่โดยรวมเอ็นพีแอลจะขึ้นเท่าไหร่ต้องรอดูหลังหมดมาตรการพักเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนชำระหนี้ 3-6 เดือนที่จะสิ้นสุดเดือนมิ.ย.-ต.ค.นี้
เพราะการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้เป็นเวลานานเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับไทยมาก่อน ซึ่งธนาคารติดตามสอบถามและให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา หากลูกหนี้รายใดชำระหนี้ไม่ไหวก็พร้อมจะเข้าไปช่วย เพราะเข้าใจดีถึงสภาวะความเป็นจริงที่ลูกหนี้จะมีเงินมาจ่ายคืนด้อยลงไป

ดังนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้คืนได้ถึงครึ่งหนึ่งหรือไม่ เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

ปัจจุบันลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยทั้งหมด 16 ล้านราย คิดเป็น 6.84 ล้านบาท เป็นบุคคลธรรมดา 15 ล้านราย และเอสเอ็มอี 1.1 ล้านราย ส่วนการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อแล้ว 5.6 หมื่นราย คิดเป็น 9 หมื่นล้านบาท

หลังจากนี้การพิจารณาและกระบวนการปล่อยสินเชื่อจะมีความรวดเร็วมากขึ้น ประกอบกับหาก ธปท.ปรับเกณฑ์บางอย่างได้ จะทำให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีความคล่องตัวขึ้น ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น ธนาคารพาณิชย์ยังมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระของลูกหนี้เป็นหลัก

“ยืนยันระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนในระดับสูง และเกินกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรง ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 11% จากที่กำหนดระดับเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ 8.5% และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดที่ 10.5%”

โดยเดือนเม.ย. ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.84% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.62 ล้านล้านบาท สัดส่วน 18.90% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกฝ่ายมีความหวังมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท จะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ

รัฐบาล-เอกชนรับมือ‘หนี้เสีย’ ระเบิดลูกใหญ่-รอการปะทุ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และภาครัฐจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายๆ รอบ

“แม้ภาครัฐจะคลายล็อกระยะที่ 5 แล้ว แต่ภาคต่างประเทศ ยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติเหมือนก่อนโควิด-19 จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายตื่นตระหนกเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวัน จนไม่สามารถปลดล็อกประเทศได้ เพราะภาคเอกชนไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นรอบสอง”

ส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) นำโดย นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประธานสภาสถาบันการเงินของรัฐ ออกมาส่งสัญญาณชัดต่อการรับมือหนี้เสีย ในช่วงโค้งท้ายปี 2563

รัฐบาล-เอกชนรับมือ‘หนี้เสีย’ ระเบิดลูกใหญ่-รอการปะทุ

นายฉัตรชัย ศิริไล

ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารของรัฐ พร้อมใจกันช่วยลูกหนี้จากมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินหลายๆ แห่งพักหนี้แบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ปกติจะเหลือลูกค้ากี่รายที่ยังจ่ายหนี้ปกติ และมีกี่รายที่ส่ออาการร่อแร่

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทำให้ตัวเลขทางบัญชี ผลกำไรต่างๆ ในปีนี้เป็นตัวเลขที่ไม่มีเงินรายรับเข้ามาจริง สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาขีดเส้นให้สถาบันการเงินจัดทำแผนบริหารเงินทุน ในช่วงระยะเวลา 1-3 ปี ให้ชัดเจนว่าจะรับมือกับลูกหนี้ที่อาจจัดได้ว่า ‘สุ่มเสี่ยง’ นี้อย่างไร

นับเฉพาะโครงการพักหนี้ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เจ้าใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ 3.34 ล้านราย คิดเป็นเงินกู้ 1.2 ล้านล้านบาท

ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ 3.1 ล้านราย คิดเป็นเงินกู้ 1.14 ล้านล้านบาท มีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) 6.5 หมื่นล้านบาท และมีหนี้ที่ค้างชำระแต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย 7 หมื่นล้านบาทที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พักหนี้ 10 มาตรการ มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือ 4.46 แสนราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 4.44 แสนล้านบาท

แบงก์รัฐ 3 แห่ง พักหนี้ไปแล้วรวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้จะเข็นกลับขึ้นฝั่ง กลายเป็นหนี้ดีได้ กี่มากน้อย หรือถ้าคิดแค่ต่ำๆ มีลูกหนี้ 10% ที่ต้อง กลายเป็นหนี้เสีย ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ก็ไม่ใช่ ตัวเลขน้อยๆ เป็นการบ้านที่ทุกแบงก์ต้องไปนั่งกัดฟัน คิดให้ตกจากนี้

มองไปในระยะข้างหน้า หน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย โดย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ย้ำว่าหนี้เสียตลอดทั้งปีนี้จะมีทิศทางปรับขึ้น เพราะวิกฤต โควิดนี้เพิ่งเริ่ม

รัฐบาล-เอกชนรับมือ‘หนี้เสีย’ ระเบิดลูกใหญ่-รอการปะทุ

นายดอน นาครทรรพ

แต่ยืนยันว่านี้จะไม่กระทบกับเสถียรภาพธนาคารพาณิชย์ ซึ่งระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งลำดับต้นๆ ของโลก สามารถรองรับการหดตัวทางเศรษฐกิจได้ รวมทั้ง ธปท.มีแนวนโยบายดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เช่น กรณีที่ขยายเวลาพักชำระหนี้ และมาตรการดูแลลูกหนี้ ระยะที่ 2 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ออกมา

เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายชัดเจนว่าจะปล่อยให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ล้มหายตายจากไม่ได้เด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงการเลิกจ้างเป็นสัญญาณอันตราย

ปัญหาหนี้เสีย และการพยุงกิจการของภาคเอกชนให้ดำเนินต่อไป เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ท้าทายฝีมือของรัฐบาลชุดนี้ ไม่น้อยไปกว่าการป้องกันโควิดระบาดรอบ 2

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน