คอลัมน์ เศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ

คณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำโดย พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย พ.ท.หนุน ศันสนาคม และ นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พาสื่อมวลชนบินลัดฟ้าเยือนแดนอาทิตย์อุทัย ระหว่างวันที่ 10-14 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา

เป้าหมายหลักในการยกทัพไปครั้งนี้ คือการสำรวจตลาดสลาก กินแบ่งของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่ามีความหลากหลายในรูปแบบเกมพนันแห่งหนึ่งในเอเชีย

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการสลาก จะมีการหยิบยกวาระการออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ขึ้นมาพิจารณา ในที่นี้หมายถึงสลากออนไลน์ ในรูปแบบ “สลากล็อตโต” ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่นที่นิยมในต่างประเทศ

ที่ประเทศญี่ปุ่นสลากแบบล็อตโตนับว่ามีรูปแบบการเล่นที่หลากหลายให้ศึกษาและยึดเป็นต้นแบบ การดำเนินการสลากล็อตโตในไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

รูปแบบการเล่นสลากล็อตโตของญี่ปุ่น มีให้เลือกมากมาย ทั้ง ล็อตโต 5 ล็อตโต 6 หรือแม้กระทั่งเกมการเล่นแบบอื่นๆ เช่น บิงโก ดิจิสเกม ซึ่งการควบคุมการออกสลากที่ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลจะเปิดเป็นสัมปทานให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ต่างจากบ้านเราที่รัฐจะเป็น ผู้ผูกขาด ควบคุมการเล่นเกมพนันทั้งหมด

ญี่ปุ่นแบ่งสัดส่วนการบริหารรายได้จากการขายสลากเป็น 41% เป็นการจ่ายเงินรางวัล 40% นำส่งเป็นรายได้รัฐ และ 19% เป็นค่าบริหารจัดการ

ผู้บริหารสำนักงานสลากให้คณะสื่อมวลชนทดลองเล่นสลากแบบล็อตโต 6 โดยอธิบายเข้าใจอย่างง่ายคือ ใน 1 ชุดจะมีตัวเลข 1-43 ให้ผู้ซื้อเลือกตัวเลขในจำนวนนี้ 6 หมายเลข เช่น 1 15 26 28 41 และ 43 ฝนหมายเลขดังกล่าวลงในกระดาษสำหรับใช้ซื้อ และส่งให้ผู้ค้า ซึ่งที่ญี่ปุ่นเราสามารถซื้อสลากได้เป็นจุดเฉพาะ เช่น ตามสถานีรถไฟ หรือแหล่งชุมชน

จากนั้นผู้ค้าก็จะนำตัวเลขดังกล่าวกรอกเข้าสู่ระบบ และออกเป็นสลากล็อตโตใบสำเร็จที่มีหมายเลขที่ผู้ซื้อเลือกไว้ คืนให้กับผู้ซื้อไว้ใช้สำหรับตรวจรางวัล ซึ่งในบางงวดจะมีเพาเวอร์บอล หรืองวดพิเศษ ที่จะเพิ่มเงินรางวัลล่อตาล่อใจมากขึ้น โดยจำนวนงวดที่ออกจะมีความถี่มากกว่าบ้านเรา เช่นทุก 3 วัน หรือทุก 5 วัน หรือรายสัปดาห์

การออกรางวัลจะออกที่สำนักงานกลางที่โตเกียว ทราบผลการออกรางวัลในช่วงประมาณ 1 ทุ่ม ในกรณีที่เล่นล็อตโต 6 ก็จะเป็นการจับบอล 6 ลูก ซึ่งหากออกหมายเลขครบและตรงทั้ง 6 หลัก ผู้ซื้อก็จะได้รับรางวัลแจ๊กพอต ที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของล็อตโต

หากบางงวดที่ไม่มีผู้ถูกเงินรางวัลก็จะสมทบไปเรื่อยๆ และจ่ายเงินรางวัลในลักษณะผันแปร ยกตัวอย่างเช่น งวดล่าสุดล็อตโต 6+1 รวมเพาเวอร์บอลมีเงินรางวัลแจ๊กพอตสูงสุดกว่า 500 ล้านเยน มีผู้ถูกรางวัล 2 คน ก็แบ่งเงินรางวัลไปคนละ 250 ล้านเยน

กรณีเลือกเลขถูก 5 หลัก จะได้เงินรางวัลหลักแสนเยน ถูก 4 หลัก เงินรางวัลหลักหมื่นเยน และต่ำสุดกรณีถูก 3 หลักเงินรางวัลที่ได้คือ 1 พันเยน

สำหรับราคาสลากล็อตโตที่ญี่ปุ่น อยู่ที่ประมาณ 200 เยนต่อใบ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 60 บาท ถูกกว่าบ้านเราที่ราคาสลากอยู่ที่ คู่ละ 80 บาท แต่พบว่า คนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมการซื้อสลากในลักษณะ ซื้อแบบติดกระเป๋า เสี่ยงโชค เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้หวังรวยจากการเล่นพนันแบบบ้านเราเท่าไหร่นัก

ย้อนกลับมาที่แนวทางการออกสลากล็อตโตในประเทศไทย ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสลาก ต้องสรุปให้เข้าใจก่อนว่ายังเป็นเพียงแนวทางศึกษา เป็นแผนที่เตรียมเอาไว้ ยังไม่ได้มีกำหนดกะเกณฑ์ว่าจะออกได้ในงวดใดหรือปีไหน

เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในบ้านเรา และรอไฟเขียวจากรัฐบาล แน่นอนว่าแรงเสียดทานเรื่องนี้ค่อนข้างหนักหน่วงโดยเฉพาะในเรื่องการมอมเมา

พล.ต.ฉลองรัฐระบุว่า วัตถุประสงค์และความจำเป็นในการออกสลากล็อตโต ถือเป็นนโยบายเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ ที่มีเกมสลากหลายรูปแบบเพราะต้องการลดการพนันนอกระบบ เช่น หวยใต้ดิน รวมทั้งการพนันฟุตบอล บ่อน อื่นๆ

อีกทั้งเงินจากการเสี่ยงโชคนำกลับไปใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำเงิน ที่อยู่นอกระบบ ซึ่งคาดว่ามีมากกว่าหลาย แสนล้านบาทต่อปีมาอยู่ในระบบได้

รูปแบบสลากล็อตโตในไทยอาจจะไม่ จัดจ้านเท่าญี่ปุ่น หากเดินหน้านโยบายนี้ต้องทำแบบเข้าใจง่าย ขายคล่อง คล้ายๆ กับของไต้หวัน เช่น อาจมีหมายเลขให้เลือกเล่นน้อยกว่า เช่น 42 หมายเลข หรือจำนวนตัวเลขให้เล่นน้อยกว่าก็ได้

รวมทั้งจำนวนงวดออกรางวัลในแต่ละเดือน และราคาสลากล็อตโต รูปแบบการเล่นต่างๆ ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในแผนพิจารณา ขึ้นอยู่กับนโยบาย และสภาพแวดล้อม

“เท่าที่ศึกษาตั้งใจว่าจะให้มีการออก ล็อตโตเดือนละ 2 ครั้ง คงไม่ใช่ทุก 5 วัน 7 วัน เหมือนของประเทศญี่ปุ่น เพราะไม่ต้องการให้มองว่าเป็นการมอมเมา” พล.ต.ฉลองรัฐกล่าว และว่า

ส่วนของเงินรางวัลมีหลายรูปแบบที่ศึกษา มีรางวัลใหญ่จนถึงรางวัลเล็ก ยกตัวอย่าง ถ้าจำหน่ายสลากล็อตโตในราคาและปริมาณเท่ากับลอตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันต้องจ่ายเงินรางวัลที่ 1 หรือ 6 ล้านบาท ให้กับลอตเตอรี่ 71 ชุด คิดเป็น 426 ล้านบาทต่องวด เท่ากับว่ารางวัล แจ๊กพอตของล็อตโตจะเฉลี่ย 300-400 ล้านบาทต่องวด และหากไม่มีผู้ถูกรางวัลที่ 1 ก็สามารถสมทบเป็นรางวัลใหญ่ในงวดต่อไปได้

อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินรางวัลแจ๊กพอตไม่ให้ผิดกฎหมายซ้ำรอยกับหวยบนดินในอดีตต้องแก้ไขกฎหมาย ขณะนี้สำนักงานสลากฯ อยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการจ่ายเงินรางวัลตามมาตรา 22 ที่กำหนดให้จ่ายเงินรางวัล 60% จากการขายสลากในแต่ละงวด ให้สมทบเงินรางวัลและสามารถนำไปจ่ายจนเต็มจำนวน 60% ในงวดถัดไปให้กับผู้ถูกรางวัลได้

เพื่อให้สามารถจ่ายรางวัลให้กับสลากรูปแบบล็อตโตในรูปแบบของรางวัลแจ๊กพอตได้ รวมถึงการตั้งกองทุนสลากเพื่อพัฒนาสังคม

คาดว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์ ในเดือนส.ค. เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุง แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้

พล.ต.ฉลองรัฐระบุว่า การจ่ายเงินรางวัลล็อตโตในไทย อาจต้องกำหนดเป็นสัดส่วน เช่น 20% ของรายได้จากการจำหน่ายกันไว้สำหรับจ่ายรางวัลแจ๊กพอต ส่วนที่เหลืออีก 40% เป็นเงินรางวัลอื่นๆ

แต่อยู่ในกรอบการแบ่งสัดส่วนรายได้คือ 60% ใช้ในการจ่ายรางวัล 20% นำส่งรายได้เข้ารัฐ 17% เป็นค่าบริหารจัดการ และ 3% ใช้สมทบในกองทุนสลากเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งในกระบวนการแก้ไขกฎหมายอาจลดทอนส่วนนี้ลง เหลือ 1% และนำรายได้ที่เหลือ ไปสมทบเป็นรายได้รัฐ

แต่กว่าล็อตโตจะขึ้นรูปในไทยได้ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะประเทศไทยถือว่าเป็นสังคมศีลธรรมย่อมมีแรงเสียดทาน ต่อต้านการพนันที่มีลักษณะชวนให้มอมเมา ล่อใจด้วยเงินรางวัลระดับร้อยล้าน

ที่สำคัญจะปลูกฝังอย่างไรให้คนซื้อรู้สึกว่าเงินที่ใช้จ่ายซื้อสลากส่วนหนึ่งถูกนำไปพัฒนาประเทศ ไม่ใช่การเดิมพันจนสิ้นเนื้อประดาตัว แบบเดียวกับที่คนญี่ปุ่นมี

หากสำนักงานสลากฯแก้โจทย์แตก ล็อตโตก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดในไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน