นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวประมง ถึงพระราชกำหนดการ (พ.ร.ก.) ประมง ที่เป็นผลปฏิบัติเมื่อเดือนมิ.ย. 2560 ระบุว่าสร้างปัญหากับชาวประมงมาก โดยเฉพาะข้อกำหนดโทษที่รุนแรง ถึงขั้นยึดเรือแม้มีความผิดเพียงเล็กน้อย ถือเป็นการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาล การยึดทรัพย์ของชาวประมง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ที่ไม่เป็นธรรม เพราะการทำประมงผิดกฎหมายตามหลักสากล คือ การกระทำต่อทรัพยากร

อย่างไรก็ตาม การที่กรมประมงปรับปรุงพ.ร.ก. ดังกล่าว เป็นเพราะ พ.ร.ก.การประมงเดิม 2558 ในมาตรา 169 กำหนดให้เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใด ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ให้ยึดทั้งสิ้น นั้นมีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบมากต่อชาวประมงเฉพาะผู้ที่อาจจะกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยไม่ได้ตั้งใจหรืออาจเป็นความผิดเล็กน้อย

ดังนั้น จึงเสนอให้ปรับแก้ไข พ.ร.ก. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ในมาตรา 169 และประกาศใช้เมื่อปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา โดยปรับเปลี่ยนหลักการให้การริบของกลางตามกฎหมายประมง ได้แก่ เรือประมง เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ จะกระทำได้เฉพาะกรณีความผิดร้ายแรงตามกำหนดไว้ในพระราชกำหนดการประมงเท่านั้น ไม่ได้ยึดของกลางตามความผิดทั้งหมดตามที่กำหนดไว้เช่นเดิม ซึ่งทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยไม่ทำให้มาตรการป้องกันการทำการประมงผิดกฎหมายได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ หลักกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการยึดเรือประมงของกลาง ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มีหลักทั่วไป ว่าการยึดเรือ เป็นอำนาจศาล และกำหนดให้ยึดทรัพย์สินบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยกระทำความผิดเท่านั้น จึงอยากให้ชาวประมง ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะกระทำความผิดไม่ต้องกังวลใจว่ากฎหมายจะไม่เป็นธรรม เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่ทั้งนี้ชาวประมงทุกคน ควรทำประมงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน