เล็งผุดไฮสปีดเทรนต่อขยาย 3 สนามบินต่อยาวไปถึงตราด วงเงินแสนล้าน ระยะทาง 190 กิโล จอด 4 สถานี ระยอง-แกลง-จันทบุรี-ตราด คาดเปิดบริการปี’71 ค่าโดยสาร 494 บาท
เล็งผุดไฮสปีดยาวถึงตราด – นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน โครงการศึกษาความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท
ว่า รฟท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้าง โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ เดือนส.ค. 2563
เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบพีพีพี คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในปี 2564 เริ่มจัดทำแผนพีพีพี ช่วงปี 2565 หาผู้ลงทุนและออกแบบก่อสร้างในปี 2567 และทดสอบรถและเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าโครงการดังกล่าวมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เพียง 5.39% มีระยะก่อสร้างทางรวม 190 กิโลเมตร (ก.ม.) ความเร็วรถ 250 ก.ม./ชม. ใช้ระยะเวลาเดินรถรวม 64 นาที โดยมีอัตราค่าโดยสารแรกเข้า 95 บาท และบวกเพิ่มอีก ก.ม.ละ 2.1 บาทตลอดเส้นทาง หรือคิดเป็นอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางรวม 494 บาท
ส่วนจำนวนผู้โดยสารนั้นคาดการณ์ว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารวันละ 7,429 คน และในปี 2581, 2591 และ 2601 จะเพิ่มเป็นในวันละ 10,896 คน 15,251 คน และ 19,575 คน ตามลำดับ
นายสุชีพ กล่าวอีกว่า ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เบื้องต้น รฟท. ได้เสนอรูปแบบร่วม แบบ PPP Net Cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือก คือ
แบบที่ 1 เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน
แบบที่ 2 เอกชนเป็น ผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา
และแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ
สำหรับโครงการดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก
ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภา ผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง-บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กิโลเมตร
จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กิโลเมตร วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง
และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตรโดยมีสถานีรวมทั้งสิ้น 4 สถานี คือ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี และสถานีตราด
รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งว่า สำหรับโครงการดังกล่าวคาดว่าจะต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างรวมประมาณ 2-3 พันหลังคาเรือน คาดว่าจะใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดินตลอดเส้นทางราว 1.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนอายุสัมปทานตามกฎหมายพีพีพี ระบุให้ไม่เกิน 50 ปี ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีนั้น เอกชนจะต้องลงทุนจัดหาพื้นที่เองเนื่องจาก รฟท. ไม่มีพื้นที่รอบสถานีเพียงพอที่จะให้พัฒนาเชิงพาณิชย์
รายงานข่าวจากรฟท. แจ้งว่า จากผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นสรุปชัดเจน หากมีการดำเนินโครงการพร้อมกันทั้งเส้นทาง จากจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทางรวม 190 ก.ม. ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 5.3% ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่รับกำหนด 12% มาก
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ รฟท. อาจจะก่อสร้างระยะแรกก่อน คือต่อขยายจากสถานีอู่ตะเภา ไปยังสถานีระยองและสถานีแกลง รวมระยะทางประมาณ 100 ก.ม. วงเงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 9% ซึ่งคุ้มค่ากว่าการสร้างตลอดทั้งเส้นทาง
ส่วนช่วงจากสถานีอำเภอแกลง ไปยังสถานีจันทบุรีและสถานีตราด อาจจะพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่าประเทศจำนวนมาก ทั้งจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคธานคารและภาคการก่อสร้าง อาทิ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด,
บริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทซีพี, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารแห่งชาติจีน และตัวแทนจากสถานทูตญี่ปุ่น แคนาดา รัสเซีย และอังกฤษ เป็นต้น