สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยยืนตัวเลขส่งออกไทยปี 2563 ยังติดลบ 10% ปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ

ส่งออกปี’63 ยังติดลบ 10% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 อยู่ที่ -10% หลังจากที่ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 114,342 ล้านเหรียญสหรัฐ -7.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำเข้ามูลค่า 103,642 ล้านเหรียญสหรัฐ -12.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 10,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของ โควิด-19 โดยเฉพาะสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เป็นต้น ทำให้หลายประเทศยังคงต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง โดยเฉพาะสหรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ อาทิ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เป็นต้น ทำให้หลายประเทศยังคงต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ ต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

2. สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาและจีน มีการประกาศนโยบายตอบโต้ระหว่างกัน อาทิ การปิดสถานกงสุล (โดยสหรัฐ สั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ขณะที่จีนโต้ตอบด้วยการปิดสถานกงสุลประจำนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน) รวมถึงการประกาศมาตรการคว่ำบาตรบุคลากรระดับสูงเพื่อตอบโต้ระหว่าง 2 ชาติ

3. ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2562 จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ถูกกดดันโดยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ กลุ่มพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึง 12% ให้มีทิศทางการส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการส่งออกที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากผลของสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์รอบที่ 2 ภายในประเทศและเสถียรภาพทางด้านการเมือง 5. การขาดสภาพคล่องการเงินของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับผลของการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้าจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อเพื่อดำรงสภาพคล่องในธุรกิจของตน

6. ปัญหาด้านโลจิสติกส์ แม้ว่าเริ่มมีการผ่อนคลายจากการล็อกดาวน์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคจากระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีจำกัด ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ work from home ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งบ้าน และจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด–19 โดยเอกชนมีความคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนจะพร้อมใช้งานได้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

น.ส.กัณญภัคกล่าวว่า ขณะนี้เอกชนต้องการให้รัฐสนับสนุนเร่งรัดดำเนินมาตรการเยียวยาด้านการเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ต้องเข้ามาเพิ่มการค้ำประกันให้กับการกู้เงินของภาคเอกชนจากธนาคารพาณิชย์เป็นรายบริษัท ทั้งนี้ ต้องสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมให้กับ บสย. เพื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ

“ขอให้ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ เข้าใจความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และมุ่งดำเนินการให้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง อาทิ รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ระดับ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ และผ่อนปรนนโยบายการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Soft loan) และขอให้มีการขยายอายุของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ให้เป็น 5 ปี”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน