พิษโควิด-19 ไม้ดอกไม้ประดับไทยส่งออกครึ่งปีแรกวูบ 31% แต่กระทรวงพาณิชย์มั่นใจศักยภาพตลาดฟื้นอาเซียนยังขยายตัว

พิษโควิดส่งออกไม้ดอกวูบ – นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 3 ของเอเชีย (รองจากจีน และมาเลเซีย และอันดับที่ 11 ของโลก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยลดลง โดยในช่วงครึ่งแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ (พิกัดศุลกากร 06) ของไทยอยู่ที่ 46.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ทั้งนี้ การส่งออกไปตลาดหลักของไทยส่วนใหญ่หดตัว อาทิ สหรัฐอเมริกา ส่งออก 8.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 46% ญี่ปุ่น ส่งออก 8.38 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 17% สหภาพยุโรป ส่งออก 5.67 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 40% และเกาหลีใต้ ส่งออก 3.36 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 31% อย่างไรก็ดี ตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี คือ อาเซียน อาทิ ลาว ส่งออก 0.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16% และเมียนมา ส่งออก 0.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45%

สำหรับสินค้าที่มีการขยายตัวในตลาดเมียนมา และลาว ได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ไม้ประดับ เช่น มอสและไลเคน เป็นต้น จึงใช้โอกาสนี้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เพื่อพบปะหารือนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็เชื่อมั่นว่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและกลับมาขยายตลาดได้เพิ่มอีก และไต่ระดับข้อมาอยู่ในกลุ่มท็อปเท็นของโลกได้

ขณะเดียวกัน ไทยมีแต้มต่อทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ได้ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ (ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู) ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้ เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสและไลเคน ในอัตราภาษีที่ 5% ดอกกล้วยไม้ในอัตราภาษีที่ 60%

“ในช่วงนี้ จึงเป็นช่วงที่นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ของไทย จะเร่งพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ เนื่องจากดอกไม้เป็นสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่อยู่เสมอตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนช่องทางการทำตลาด โดยหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น รวมทั้งใช้ข้อได้เปรียบทางภาษีโดยเจาะตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงเอฟทีเอด้วย ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีโครงการที่จะพาเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยไปศึกษาดูงานหลังโควิด-19 คลี่คลาย”

ที่สำคัญ เมื่อเปรียบเทียบการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยไปตลาดโลกจากปีก่อนมีเอฟทีเอ (ปี 2535) กับปัจจุบัน (ปี 2562) พบว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกกล้วยไม้ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกได้เป็นอันดับต้นของโลก พบว่าจากที่ไทยเคยส่งออกกล้วยไม้สู่ตลาดโลกได้ 27.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2535 เป็นส่งออกได้ 69.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 คิดเป็นการขยายตัว 152% โดยประเทศคู่เอฟทีเอที่เป็นตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญของไทย และการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนมีเอฟทีเอ เช่น อาเซียน ขยายตัว 11,900% และจีน ขยายตัว 358%

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้สู่ตลาดโลกมูลค่า 132.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด 22% ของการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดของไทย ญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาด 16% อาเซียน ส่วนแบ่งตลาด 15% มีเวียดนาม เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ในอาเซียน สหภาพยุโรป ส่วนแบ่งตลาด 14% มีเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ในสหภาพยุโรป และ เกาหลีใต้ ส่วนแบ่งตลาด 6% สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ดอกกล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้ ไม้ประดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน