นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560 -2564) จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการในระยะที่ 1 ของการขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายคือการเป็นชาติการค้าและบริการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2579

ภายใต้แผนนี้มีตัวชี้วัดคือ 1. ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ขึ้นในปี 2563 2. ประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นในปี 2564

3. ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ ราคาประจำปีในปี 2564 4. จำนวนธุรกรรมการให้บริการการนำเข้าและส่งออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็น 100% ในปี 2564

ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้กำหนดกรอบการดำเนินการเป็น 3 ระยะคือ 1.ระยะ 1-5 ปี คือ แผนยุทธศาสตร์ที่เสนอมาครั้งนี้ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ 2560-2564) 2.ระยะ 5-10 ปี ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาคเชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้ารูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-อมเมิร์ซ) พัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ อี-โลจิสติกส์ อย่างสมบูรณ์ ขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้าง 3. ระยะ 20 ปีมุ่งสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการของประเทศไทยที่ได้กำหนดไว้ในทิศทางและตำแหน่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้บนเวทีโลกสร้างประโยชน์จากห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคและใช้ฐานเศรษฐกิจดิจิตอลและการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง

“ครม. เห็นชอบแผนนี้ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ และใช้ประโยชน์ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และรายงาน สศช.เพื่อบูรณาการการดำเนินการในภาพรวม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ และยกระดับประสิทธิภาพระบบอำนวย ความสะดวกทางการค้าให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนพัฒนาปัจจัยสนับสนุน เช่น พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีมาตรฐาน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ประเทศไทย มีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยมีศักยภาพการประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน