นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานสัมมนา “Thailand Overseas Investment Forum 2017” จัดโดยบีโอไอร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดอาเซียน เพื่อยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศในอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูงทำให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยปี 2559 ที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนไทยในอาเซียนอยู่ที่ 874,193 ล้านบาท ซึ่งประเทศในอาเซียนที่ไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ รองลงมาคือ เวียดนาม มาเลเซีย และลาว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ เครื่องดื่ม รองลงมา คือ การค้าส่งค้าปลีก การเงินและประกันภัย เหมืองแร่และเหมืองหิน และการก่อสร้าง

“ปี 2561 บีโอไอตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่า 100 ราย ขณะเดียวกันบีโอไอเตรียมจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการลงทุนในลักษณะให้เอกชนรายใหญ่ออกไปนำร่องให้เอสเอ็มอีเข้าไปลงทุนตาม โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายให้ไทยมีมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน จากปัจจุบันสิงคโปร์ ออกไปลงทุนอันดับ 1 รองลงมา คือ มาเลเซีย”

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ล่าสุดมีผู้ประกอบการ 89 รายไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว จากที่นักลงทุนผ่านการอบรมกว่า 400 ราย และสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำนักลงทุนไทยรุ่น 12 และรุ่น 13 อีก 70 ราย เดินทางไปศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในลาวและเวียดนาม

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนของไทยในอาเซียน” ว่าผู้ประกอบการที่ต้องการไปลงทุนในอาเซียน ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เข้าใจตลาดท้องถิ่นดีพอ ขณะเดียวกันธุรกิจควรมีสายป่านยาว และมีบริษัทแม่ที่ขายในไทยอยู่ก่อนแล้วเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากกฎหมายของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย สิ่งสำคัญควรศึกษาตลาดของแต่ละประเทศที่จะไปลงทุนให้ดี เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนขายสินค้าในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออกสินค้า เพราะตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และกำลังขยายตัวโดยเฉพาะในเกาะชวา อินโดนีเซียมีช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ดี สามารถใช้ผู้แทนจำหน่ายในการช่วยกระจายสินค้าได้ กิจกรรมส่งเสริมการขายและทำการตลาด ควรใช้ช่องทางของสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก สินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุนคือ ชิ้นส่วนยานยนต์

เวียดนาม แบ่งออกเป็น 3 เขต (เหนือ กลาง ใต้) พบว่ามีการแข่งขันสูงในเวียดนามใต้ ผู้บริโภคเปลี่ยนแบรนด์สินค้าง่าย แต่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ขณะที่เวียดนามตอนกลางการแข่งขันยังไม่สูงมาก และมีตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น การเข้าไปลงทุน ควรมีพนักงานท้องถิ่นที่มีความสามารถในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น เพราะกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย

เมียนมา เป็นประเทศที่นักลงทุนหลายชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเพราะมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเปิดเสรีมากขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนมาก จึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา ควรหาพันธมิตรทางการค้า โดยมุ่งไปที่ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน