นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ตามที่การรถไฟฯ จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ จำนวน 115 คัน เพื่อเป็นการลงทุนในล้อเลื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ด้วยการนำรถโดยสารที่มีความทันสมัย และพัฒนาบริการที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สนองตอบความต้องการของผู้โดยสารที่มีกำลังซื้อ โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรก เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559

กำหนดให้บริการในเส้นทางหลัก 4 เส้นทาง ไปและกลับ จำนวน 8 ขบวน ต่อวัน ประกอบด้วย สายเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี ที่ 9 และ 10 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัตนา ที่ 23 และ 24 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา ที่ 25 และ 26 กรุงเทพฯ-หนองคาย-กรุงเทพฯ และ สายใต้ ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ที่ 31 และ 32 กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ

การเปิดเดินขบวนรถดังกล่าว เป็นการทดลองการให้บริการขบวนรถโดยสารในรูปแบบใหม่ โดยใช้อัตราค่าโดยสารเดียวกับขบวนรถเชิงพาณิชย์ (ขบวนรถด่วนพิเศษ) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพิ่มอัตราค่าโดยสาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการที่รักการเดินทางได้ทดลองสัมผัสกับขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ของรถไฟไทย ที่เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก และความสบายมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการน้ำดื่ม บริการ WIFI จอ LED แสดงสถานะข้อมูลการเดินรถ และรายการบันเทิงต่างๆ บนขบวนรถ

อย่างไรก็ตาม การให้บริการเพิ่มเติมเหล่านี้ ทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อคำนวณแล้วจะทำให้ค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 185 บาทต่อที่นั่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระที่การรถไฟฯ ต้องรับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม จึงปรับอัตราค่าธรรมเนียมบริการใหม่ของขบวนรถชุดดังกล่าวทุกเส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2560 เป็นต้นไป

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับค่าโดยสารแล้ว เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วค่าธรรมเนียมรถนอนชั้น 1 เพิ่มขึ้นประมาณ 190 บาท และรถนอนชั้น 2 ประมาณ 145 ต่อที่นั่งเท่านั้น โดยการปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมในครั้งนี้จะสามารถสร้างรายได้ในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ให้แก่การรถไฟฯ เพื่อนำไปปรับปรุงบริการให้เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางรางให้เพิ่มมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน