นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) กล่าวในโอกาสนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เดินทางมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้ กนอ. ว่า กนอ. เสนอแนวทางการนำเตรียมนำพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ สมาร์ต ปาร์ก “Cluster:Smart Park” พื้นที่ประมาณ 1,466 ไร่ งบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ให้บอร์ดพิจารณา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หรือมีนวัตกรรมและเป็นอุตสาหกรรมเคมี/ปิโตรเคมี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ อากาศยาน และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าและเกษตรเพื่อการส่งออก เป็นต้น

โครงการดังกล่าวกำลังจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี แบ่งเป็นพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรม และพื้นที่พาณิชยกรรม คาดจะใช้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท มีแผนเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และคาดจะสามารถเปิดให้ใช้บริการในพื้นที่ได้ในปี 2563

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรภาคตะวันออกในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 50 ไร่ เบื้องต้นจะดึงสหกรณ์ในท้องถิ่นมาพัฒนาร่วมกับซีพี ในลักษณะสหกรณ์ต้นแบบ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีจุดแข็งเรื่องการปลูกพืชผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับมีโครงสร้างพื้นฐานทั้วท่าเรือและสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รองรับการขนส่งสินค้าในพื้นที่พัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เชื่อมโยงการค้า การลงทุนไปยังภูมิภาคของไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยรูปแบบอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารอีอีซีจะพิจารณา คาดจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

นายวีรพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนท่าเรือรองรับการขนส่งสินค้าในพื้นที่อีอีซี ว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งกำลังขอความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) คาดจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี : PPP) ในปี 2561

นายอุตตม กล่าวว่า มอบหมายให้ กนอ. เร่งจัดทำแผนสร้างฐานความเจริญในพื้นที่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้แล้วเสร็จนำกลับมาเสนออีกครั้งภายใน 60 วัน โดยจะจัดโซนรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหม่ (สตาร์ต อัพ) อย่างทั่วถึงให้สามารถเข้าใช้บริการต่างๆ อาทิ ห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ โรงงานสำเร็จรูป พื้นที่การใช้งานร่วมกันของเอสเอ็มอี ศูนย์บริการส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร

ปัจจุบัน กนอ. อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตาก สงขลา และ นราธิวาส โดยล่าสุด กนอ. ลงนามเช่าพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะเดา จ.สงขลา ร่วมกับกรมธนารักษ์ พื้นที่ 629 ไร่ และในส่วนของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม กนอ. กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (2560-2579) ด้วยการนำองค์กรสู่นวัตกรรม หรือ กนอ. 4.0 ให้เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ โดย 5 ปีแรก (2560-2564) จะพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 15,000 ไร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน