นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับวงเงินค่าใช้จ่ายในสัญญา 2.2 งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ในวงเงินรวม 3,500 ล้านบาท

ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินเดิมที่ตั้งไว้ที่ 3,300 ล้านบาท กระทรวงจะต้องรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ แต่จะไม่กระทบกรอบวงเงินลงทุนภาพรวมโดยจะยังคงอยุ่ในวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

“เดิมเราวางกรอบงบค่าจ้างรวมที่ 3,300 ล้านบาท แต่ทางฝ่ายจีนเสนอค่าจ้างมาสูงกว่ากรอบวงเงินมาก ฝ่ายไทยจึงแก้ปัญหาด้วยการขอปรับลดจำนวนที่ปรึกษาคุมงานฝ่ายจีนและไทยลง จากเดิมมีทั้งหมด 450 คน สุดท้ายสรุปตัวเลขค่าจ้างที่ 3,500 ล้านบาท ขณะนี้มอบให้คณะทำงาน 2 ฝ่ายไปสรุปรายละเอียดให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้”

นายอาคมกล่าวต่อว่า ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย จะเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเข้าร่วมประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 9 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะลงนามร่วมกับฝ่ายจีน รวม 2 ฉบับ พร้อมกันคือ สัญญา 2.1 งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐาน และสัญญา 2.2 สัญญางานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างเส้นทางตอนที่ 1 ระยะที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ได้ทันตามกำหนดเดิมในเดือนต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ไทยและจีนยังเห็นชอบร่วมกันที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันรวม 11 แขนง 4 กลุ่มได้แก่ 1. การออกแบบและควบคุมงาน 2. การเดินรถและซ่อมบำรุง 3. ระบบตัวรถ และ 4. ชิ้นส่วนและอุปกรณ์

นายอาคมกล่าวถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ที่ผ่านตัวเมืองโคราชว่า สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชะลอการประมูลออกไปก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 21 ส.ค. เนื่องจากปรับแก้ไขแบบก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ผ่านตัวเมืองใหม่ให้เป็นทางยกระดับ ตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน