นายแบงก์ชี้คนไทยใช้จ่ายเกินตัวจนหนี้ท่วมหัว แนะทางออกต้องปรึกษาเจ้าหนี้-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม – ยอมรับว่าธนาคารถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา จึงต้องกลับมาทบทวนบทบาทและร่วมแก้ปัญหา

มึน!คนไทยหนี้ท่วมหัว – นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวในงานเสวนา “FIN TALK by TMB I Thanachart ปลดล็อกชีวิตหนี้ สู่วิถีการเงินใหม่” ที่ทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต จัดขึ้น ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมาก และกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นเดือนก.ย.2562 พบว่า คนไทย 21 ล้านคนเป็นหนี้ ซึ่งไม่รวมหนี้นอกระบบ

โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี พบว่า ปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนสูงถึง 34% ขณะที่หนี้รถมีสัดส่วน 25% หนี้บ้าน 40% และหนี้อื่นๆ อีก 1% ขณะที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอังกฤษ เป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5% โดยปัญหาหนี้ของคนไทยอาจเกิดจากความคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับธนาคารมีการออกผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างความสะดวกในการใช้จ่ายและช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินกู้ง่ายขึ้น

“ยอมรับว่าธนาคารถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา จึงต้องกลับมาทบทวนบทบาทของธนาคารที่มีต่อสังคมและร่วมแก้ปัญหา ซึ่งธนาคารไม่ได้มีบทบาทเป็นเจ้าหนี้คอยทวงหนี้ แต่ต้องเป็นคลินิกช่วยรักษา ช่วยวินิฉัยโรค และช่วยจ่ายยาให้กับคนไข้ที่กำลังมีปัญหาหนี้ พร้อมแนะลูกหนี้เข้าไปปรึกษาธนาคารเจ้าหนี้ เพราะหากเลือกวิธีการแก้หนี้ผิดอาจทำให้เป็นหนี้เพิ่ม ซึ่งปัจจุบันธนาคารทีเอ็มบีเอง มีทางเลือกช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การรวมภาระหนี้ที่มีจากหลายบัญชีสินเชื่อให้เหลือเพียงบัญชีเดียว โดยลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระตามสินเชื่อมีหลักประกัน ทำให้ปรับลดภาระการผ่อนโดยรวมลง”

ด้านนายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ มันนี่โค้ช กล่าวว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมแก้หนี้ไม่ถูกต้อง เช่น พยายามแก้ปัญหาเอง ไม่กล้าขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ติดกับดักการเป็นหนี้แบบไม่มีวันจบและการรีไฟแนนซ์ หรือการได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่ม ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการบรรเทาหนี้ ถ้าไม่ปรับพฤติกรรม

ดังนั้นการปลดล็อกต้องหันกลับมาหาจุดตั้งหลักด้วยการปรับและเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นด้วยการไปคุยกับคู่สัญญาหรือธนาคาร เพื่อประเมินทางออกร่วมกัน ส่วนการปรับพฤติกรรม อาทิ การเพิ่มรายรับนำเอาทักษะของตัวเองมาหารายได้ การลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายหนี้ ต้องหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายหนี้ในแต่ละเดือน และเลือกใช้เวลาในการมุ่งแก้ปัญหา รวมทั้งใช้เวลาในการหันไปคุยกับธนาคารเพื่อเจรจา หรือขอคำปรึกษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน