นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวในการเป็นประธาน การประชุมคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และการรับคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดบึงกาฬ ณ ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ ว่า จังหวัดบึงกาฬได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอ “ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ” ต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงนำคณะลงตรวจเยี่ยมแหล่งผลิตผ้าหมักโคลนบึงกาฬในพื้นที่บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตผ้าหมักโคลนบึงกาฬ

บึงกาฬเป็นจังหวัดน้องใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศดีเพราะได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำโขง ทำให้มีผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งผ้าหมักโคลนบึงกาฬถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำดินโคลนจากธรรมชาติมาสร้างมูลค่า โดยการนำโคลนจากริมแม่น้ำโขงมาหมักกับผ้าฝ้ายด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ผ้ามีสีเทาเข้ม มีผิวสัมผัสนุ่ม มันวาว และมีกลิ่นหอมละมุนของไอดิน เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวบึงกาฬ ซึ่งจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ครั้งนี้ ได้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็งของคนในชุมชน โดยหลังจากรับคำขอดังกล่าว กรมฯ จะตรวจสอบรายละเอียดคำขอและพิจารณารับขึ้นทะเบียน GI ต่อไป พร้อมย้ำให้ชุมชนร่วมรักษาคุณภาพสินค้าคงไว้ซึ่งความมีอัตลักษณ์ของสินค้า GI ผ่านการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ที่จะขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ต่อไป

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้พบว่า ปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย น่าจะมีศักยภาพที่จะส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ได้ ซึ่งปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง เลี้ยงในน้ำไหลทำให้ปลามีเนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นโคลน ไขมันน้อย รสชาติดี ซึ่งในอนาคตหน่วยงานในพื้นที่จะศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน