รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม ได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวง กำหนดนิติบุคคลอื่นที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยาน พ.ศ. 2563 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวเปิดทางให้กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเข้าถือหุ้นในธุรกิจอากาศยานได้

เนื่องจากมองว่า อุตสาหกรรมการบินเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นมูลค่าสูง และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน และเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น กระทรวงคมนาคม จึงเห็นชอบให้กำหนดเพิ่มเติมประเภทของนิติบุคคลที่สามารถเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่า 51% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยาน โดยอนุญาตให้กลุ่มของกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ผู้จัดการกองทุนมิใช่คนต่างด้าว สามาถเข้าถือหุ้นในธุรกิจอากาศยานได้ ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กฎกระทรวงกำหนดนิติบุคคลอื่นที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยาน พ.ศ. 2563 เป็นผลมาจากที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน วันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการแก้ไขคุณสมบัติการถือหุ้นในสายการบิน โดยเปิดให้กองทุนต่างๆ สามารถเข้ามาถือหุ้นได้

โดยเป็นกองทุนที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันในตลาดทุนไทยมีกองทุนอยู่ 2 ประเภท คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวม โดยยังคงเข้มงวดในข้อกำหนดให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องไม่เกิน 49% อย่างไรก็ดี การให้เข้ามาถือหุ้นในสายการบินของกองทุน จะช่วยให้สายการบินสามารถระดมทุนได้หลากหลายมากขึ้น ในช่วงที่ประสบปัญหาผลกระทบจากโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน