บิ๊กตู่ ขออย่าพูดว่าไทยไม่น่าลงทุน ยันต่างประเทศยังคงติดต่อมาตลอด รับ เงินมีน้อย แต่จะใช้อย่างประหยัด และจะไม่เป็นภาระของใคร วันข้างหน้า

เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 16 ก.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ครั้งที่ 3/2563 ว่า

เป็นการประชุม ศบศ.ครั้งที่ 3 ที่ได้มีการดำเนินการมาตามลำดับ ตามช่วงระยะเวลา ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระยะปานกลางและระยะยาว เพราะเราไม่ทราบว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดวันใด ฉะนั้น ต้องเตรียมมาตรการเหล่านี้ให้เหมาะสม พร้อม และทันเวลา

โดยวันนี้มีการเสนอขออนุมัติหลักการโครงการหลายลักษณะด้วยกันในเรื่องการดูแลเศรษฐกิจฐานราก การดูแลผู้ประกอบการ โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง โดยหลายประเทศให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้และได้พยายามติดต่อขอเข้ามาดูกิจการและแผนการลงทุนของเขา

วันนี้จึงได้มีการขออนุมัติหลักการเบื้องต้นว่าจะมีกรอบอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว นักธุรกิจ การอนุมัติวีซ่า รวมถึงการลงทุนอีอีซี ก็อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาตกลงสัญญา ทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่ง แม้จะมีปัญหาโควิด-19 ก็ตาม

ยังมีการติดต่อ ประชุมร่วม และประชุมทางไกลกันอยู่ตลอด “ขออย่าไปพูดอะไรให้เกิดความเสียหายมากนักในกรณีที่ว่าทุกคนไม่อยากมาลงทุนในไทยแล้ว พูดแบบนี้คิดว่าไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ มันขัดกับข้อเท็จจริง”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับประชาชน ให้เห็นว่ารัฐบาลมีแผนลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ ทุกอย่างมีความก้าวหน้าตามลำดับ มีการลงนามสัญญาเดินหน้าต่อไป ไม่ได้หยุดยั้ง ที่สำคัญคือ รัฐบาลได้ดูแลผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมี 2 สองส่วน

ส่วนแรกคือ บัตรสวัสดิการของรัฐ และส่วนที่สองจะมีมาตรการเฉพาะกลุ่ม เฉพาะอย่างออกไปให้ประชาชน และวันนี้คณะอนุกรรมการได้มีข้อเสนอหลายอย่าง ซึ่งมาจากฝ่ายธุรกิจด้วย ไม่ใช่ว่าตนจะทำอะไรสนับสนุนกับเขา แต่ให้เขาคิดมาว่าควรจะมีโครงการประเภทใดบ้าง

ทั้งในส่วนที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อย และอีกส่วนคือการลงทุนระยะยาว เพื่อให้มีรายได้กลับเข้ามาประเทศ ในขณะที่รายได้เรามีเท่านี้ไม่พอ ต้องมีการลงทุน และการลงทุนไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1 ปี 2 ปี ต้องใช้เวลา 3 ปี 5 ปี ถึง 10 ปี ที่จะมีรายได้กลับเข้ามา และเพิ่มรายได้ภาครัฐ นี่คือ การทำงานแบบนิว นอร์มอล ซึ่งต้องทำ จะหาว่ารัฐบาลไม่คิดอะไรเลย มันไม่ใช่ รัฐบาลคิดตลอดเวลา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนการประชุม ศบศ. ตนได้พบกับนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายข้อเสนอตรงกับสิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับแก้โควิด-19 กับเศรษฐกิจมันแตกต่างกับต่างประเทศอย่างไร ตนคิดว่าในหัวข้อไม่ต่างกันเลย

มีเพียงอย่างเดียวคือ เงินเราน้อยกว่าเขา ซึ่งเราต้องเห็นใจประเทศของเรา ตนพยายามจะใช้เงินอย่างประหยัดที่สุด จะได้ไม่เป็นภาระต่อไปในอนาคต แต่อะไรที่มันจำเป็นก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศจะทำอย่างไร นั่นคือ สิ่งที่ตนขอฝากไว้


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน