นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงกิจกรรมการเปิดตัว 81 ชุมชนท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนตามชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ผ่านมา

จึงมอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่ได้พัฒนาชุมชนผ่านเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (GSTC) ให้เพิ่มศักยภาพตลาดแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนมากขึ้น อพท. จึงร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พัฒนาศักยภาพการตลาดและสุขอนามัยโดยมีเป้าหมาย 81 ชุมชนทั่วประเทศและนำชุมชนเป้าหมายไปผนวกในโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อเสนอขายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพต่อไป

“แนวทางดังกล่าวเป็นการพลิกวิกฤตของธุรกิจท่องเที่ยวไทยสู่โอกาสใหม่หลังโควิด-19 เพื่อให้การท่องเที่ยวของชุมชนตอบโจทย์การเพิ่มรายได้ให้ชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาลแล้วยังสนองต่อรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเข้าไปช่วยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น สามารถบริหารจัดการตนเองได้แบบยั่งยืน เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นถือเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์จากวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ผนวกกับมิตรไมตรีจากผู้คนในชุมชน ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”นายพิพัฒน์กล่าว

ด้านนายชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า โครงการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ อพท. ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 89 ราย จาก 6 สมาคมภายใต้สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรในการยกระดับศักยภาพด้านการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เชิญคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยออกแบบภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน

พร้อมกันนี้ ยังเชิญหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมยกระดับความพร้อมด้านสุขอนามัยของชุมชนให้เป็นไปตามวิถี New Normal โดยมีชุมชนเป้าหมายจำนวน 81 ชุมชนทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนที่ อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council ถือเป็นการบูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ เพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง

นายชูวิทย์กล่าวว่า หลังจากการยกระดับศักยภาพด้านการตลาดและด้านสุขอนามัยให้ชุมชนเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจาก 6 สมาคมจะได้นำชุมชนเป้าหมายไปผนวกในโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อเสนอขายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพต่อไป เช่น โปรแกรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา โปรแกรมท่องเที่ยวอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โปรแกรมท่องเที่ยวเขาหลัก-บ้านท่าดินแดง จังหวัดพังงา เป็นต้น

และเพื่อเป็นการทำงานเชิงรุก อพท. เตรียมที่จะร่วมกับบัตรเครดิตกรุงไทย หรือ KTC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ในการนำโปรแกรมท่องเที่ยวที่ผนวกชุมชนท่องเที่ยวเป้าหมายแล้วของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจาก 6 สมาคม ไปส่งเสริมการขายผ่านช่องทางของ KTC ททท. และ สสปน.อีกด้วย

“โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์และมูลค่าของโปรแกรมท่องเที่ยว และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการได้ยกระดับเพื่อเชื่อมโยงกับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายของอพท. ที่จะเร่งช่วยเหลือชุมชนท่อเที่ยว และธุรกิจท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาสดใสและยั่งยืน เป็น New Normal ที่เกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างแท้จริง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน