รายงานพิเศษ : หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’

หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’ : “ชา” เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แต่สำหรับประเทศไทยแล้วความนิยมการดื่มชายังไม่มากนัก อัตราเฉลี่ยคนไทยดื่มชาเพียง 0.93 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น

ขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคชาเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของตลาดชาทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือการส่งเสริมให้คนไทยหันมาดื่มชามากขึ้น และช่องทางการส่งออกชาไทยไปตีตลาดต่างประเทศ

หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’

โดยชูจุดขายส่งเสริมให้ผู้บริโภคดื่มชาเพิ่มขึ้น ใช้เรื่องของการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกชาอินทรีย์ และสรรพคุณเพื่อสุขภาพ ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยการนำชาไปเป็นส่วนประกอบเป็นการสร้างมูลค่าให้กับชาไทย

บวกกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สะดุดตา และตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหนทางที่จะทำให้ชาไทยก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ประเทศไทยนั้นมีแหล่งผลิตที่สำคัญ 4 อันดันดับแรกคือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน รวมพื้นที่ปลูกกว่า 1.2 แสนไร่ ส่วนใหญ่ปลูกชาอัสสัมกว่า 87% ชาจีน 13%

89% ใช้ภายในประเทศ ส่งออกเพียง 11% เท่านั้น

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเข้าไปส่งเสริมและชี้ช่องทางให้กับทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้สิทธิต่างๆ ที่เป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้า

โดยเฉพาะ ‘ความตกลงการค้าเสรี’ หรือเอฟทีเอ ที่ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวได้

สินค้าชาไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ได้ เริ่มจาก สินค้าชาเขียว (พิกัดฯ 0902.10 0902.20) ไทยสามารถส่งออกได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้าในประเทศในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี

หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’

ชาดำ (พิกัดฯ 0902.30 0902.40) ไทยส่งออกได้โดย ไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี

และสำหรับผลิตภัณฑ์ชา (พิกัดฯ 2101.20) ไทยส่งออกได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี

เพื่อสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ให้ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น ‘นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม’ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) นำคณะลงพื้นที่เปิดเวทีสัมมนาเรื่อง “เพิ่มศักยภาพชาไทยในยุคการค้าเสรี”

มีหลายภาคส่วนร่วมเสวนา เช่น บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด บริษัท สุวิรุฬห์ชาไทย จำกัด บริษัท ชาดี 101 จำกัด ร้านชามิ่งดี และผู้ประกอบการชั้นนำในจังหวัดรวมกว่า 30 ราย รวมถึงนักวิชาการ นักการตลาด และส่วนราชการในจังหวัด

หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’

เน้นการหาแนวทางการรับมือและการใช้ประโยชน์จากโอกาสจากการทำเอฟทีเอ โดยนางอรมนกล่าวว่า จากการหารือร่วมกับภาคเอกชนไทย พบว่าสิ่งที่น่าห่วงคือ มีผู้นำเข้าจีน สั่งซื้อชาจากไทยในราคากิโลกรัมละ 500-800 บาท นำไปผสมกับชาท้องถิ่นแล้วจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 10,000-15,000 บาท

เห็นได้ว่าคุณภาพชาไทยใกล้เคียงกับชาชั้นนำของจีนได้ ดังนั้นแทนที่จะส่งออกไปในรูปแบบวัตถุดิบ ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสสูงในการใช้ลักษณะเด่นของชาเชียงรายบุกตลาดบนหรือ นิชมาร์เก็ต ของจีนซึ่งมีกำลังซื้อสูงได้ และไทยยังได้ทำ เอฟทีเอไว้กับจีนถึง 2 ฉบับด้วยกันคือ ไทย-จีน และอาเซียน-จีน

นางอรมนกล่าวว่า แม้ว่าชาของไทยจะมีจุดแข็งคือเป็นชาที่มีคุณภาพดี เพราะปลูกอยู่ในสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสม มีผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

แต่มีอุปสรรคในเรื่องของแรงงาน ผู้เชี่ยวชาญการผลิต การเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) มากกว่าการแปรรูปสร้างแบรนด์ของตัวเองทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ว่าชานั้นเป็นของไทย

เหล่านี้กลับกลายเป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมชาไทย ที่ทุกฝ่ายต้องเข้าไปแก้ไข ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชา พัฒนาแบรนด์ของไทยให้เป็นที่รู้จักจำหน่ายทั้งไทยและต่างประเทศ

“ช่วงที่ผ่านมากรมลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้และทำความเข้าใจแก่เกษตรกร รวมทั้งรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้ภาครัฐสามารถแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุด โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอของผู้ประกอบการไทยอยู่ที่ 62.8% ของมูลค่าการค้าไทยกับทั่วโลกเท่านั้น”

นางอรมนกล่าวและว่า ถ้าดูในประเทศอาเซียนและประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศเหล่านี้ตั้งเป้าไว้ว่าควรมีมูลค่าการค้ากับประเทศที่มีเอฟทีเอประมาณ 80% ขึ้นไป ของไทยยังไม่ถึงและมูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.8 แสนล้านเหรียญเท่านั้น

เราจึงต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่เพื่อชี้ให้เห็นว่าตลาดของสินค้าไทยยังมีช่องทางอีกมาก และต้องใช้ประโยชน์จากการมีเอฟทีเอให้มากที่สุด

หนึ่งในแนวทางที่หลายภาคส่วนช่วยกันผลักดันให้ภาคเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือการสนับสนุนสร้างคุณค่าสินค้าเกษตรไทย ด้วยการขึ้นทะเบียนสินค้าให้เป็น “สินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ “จีไอ”

“ชาเชียงราย” ในปี 2558 เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยใบชาพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกที่นี่ จะแปรรูปเป็นชาเขียวชาอู่หลง และชาแดง ตามกรรมวิธีการผลิต และตีตราเป็นแบรนด์ “ชาเชียงราย” จึงถือเป็นโอกาสที่จะร่วมกันสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ความพิเศษดังกล่าวในตลาดต่างประเทศ

หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’

ชัญญ่า วนัสพิทักษกุล

น.ส.ชัญญ่า วนัสพิทักษกุล ผู้บริหารไร่ชาฉุยฟง กล่าวว่าการที่ผู้ประกอบการไทยนำเข้าชาจากจีน มีผลกระทบต่อส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการไทยบ้าง แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้า

เนื่องจากชาจากจีนเป็นชาประเภทเดียวกันกับที่ไทยผลิตได้ในประเทศ เช่นชาเขียว ชาดำ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้หนักใจเพราะยังมีอุปสรรคเรื่องภาษีนำเข้า อีกทั้งไร่ชาฉุยฟง ปรับตัวผลิตเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันมาตลอด
ที่ผ่านมาไร่ชาฉุยฟงผลิตชาชงดื่มด้วยใบชา เช่น ชาแดง ชาอู่หลง ชาเขียว แต่ปัจจุบันพัฒนาโดยนำชาไทยมาผสมกับสมุนไพรท้องถิ่น เช่น ตะไคร้ ข้าวคั่ว ที่เป็นข้าวของเชียงราย เปปเปอร์มินต์ และสมุนไพรต่างๆ

หนุน‘ชาไทย’เจาะตลาดโลก‘พาณิชย์’กระตุ้นใช้‘เอฟทีเอ’

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

รวมทั้งการแปรรูปชาเขียวเป็นชาผงแบบชามัตฉะของญี่ปุ่นซึ่งเป็นสินค้าขายดีของไร่ 90% ของผลิตภัณฑ์ที่ไร่ชาฉุยฟง คือขายในประเทศโดยเป็น 1 ใน 3 ของผู้ผลิตชารายใหญ่ของประเทศ

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) ไทยส่งออกชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ชาดำ 1,401.7 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญ และชาสำเร็จรูป เฉลี่ย 9.1 ตันต่อปี มูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) ไทยส่งออกชาเขียว 492,999 กิโลกรัม มูลค่า 4,663,670 ดอลลาร์สหรัฐ,
ส่งออกชาดำ 601,818 กิโลกรัม มูลค่า 2,810,489 ดอลลาร์ และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971,111 กิโลกรัม มูลค่า 19,605,063 ดอลลาร์

ตลาดชาโลกยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการไทยอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง

วรนุช มูลมานัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน