คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ส่งสัญญาณเศรษฐกิจโงหัว ปรับเป้าส่งออกหดตัวน้อยลง จับตาเสี่ยงโควิด-19 ลาม

กกร.ส่งสัญญาณศก.โงหัว – นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการส่งออกปี 2563 หดตัวในกรอบ -10% ถึง -8% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ -12% ถึง -10% เนื่องจากการส่งออกช่วงไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้จากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ฟื้นตัวไปพร้อมกับความสำเร็จในการควบคุม โควิด-19 ในประเทศ และมองไตรมาส 4/2563 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต่อไป

“การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทั่วโลก ซึ่งสินค้ากลุ่มอาหารและสุขอนามัยที่เป็นที่ต้องการมีการขยายตัวต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ กกร. ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหดตัวในกรอบ -9% ถึง -7% เนื่องจากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่าปกติอยู่มาก เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงานที่ยังไม่ลดลง และหากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ และยังคงต้องการการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่ต่อเนื่องและตรงจุด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดคงอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1%

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย. กดดันการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย และหลายแห่งในเอเชีย

นายกลินท์ กล่าวย้ำว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ลุกลามไปมาก จะกระทบธุรกิจส่งออกของไทย รวมถึงความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะต่อไป แม้จะไม่กระทบกับการเปิดรับแบบเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะเริ่มขึ้นก็ตาม ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างทยอยหมดอายุลง

“ความกังวลการระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น แรงกดดันจากปัจจัยการเมืองทั้งฝั่งสหรัฐและยุโรป รวมถึงความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และการที่ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปี”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน