พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2560 เห็นชอบให้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) อย่างเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย ด้านกฎหมาย การออกกฎหมายลำดับรอง และการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้แก่ มาตรา 11 ว่าด้วย ห้ามมิให้โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ จ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือจ้างคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว มาตรา 83 คนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และในกรณีคนประจำเรือไม่มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง (MCS) โดย กิจกรรมควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ตรวจเอกสารประจำตัวของแรงงานประมงก่อนออกทำการประมงและเมื่อกลับเข้าฝั่ง จะต้องมีความถูกต้องตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ กิจกรรมตรวจการทำประมงผิดกฎหมายและแรงงานในทะเล โดยกรมประมงได้จัดทำแผน และร่วมปฏิบัติงานการตรวจการทำประมงผิดกฎหมายและแรงงานในทะเลร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายและแรงงาน ป้องกันการใช้แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และเป็นไปตามข้อปฏิบัติมาตรฐานสากล กิจกรรมตรวจสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ กรมประมงร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการตรวจแรงงานในสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 11

ด้านแรงงาน การจัดทำหนังสือคนประจำเรือสำหรับแรงงานต่างด้าว (Seabook) โดยมีการออกหนังสือคนประจำเรือให้แรงงานต่างด้าว และจัดทำฐานข้อมูลด้านแรงงานต่างด้าว

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 -2564 ด้วย ซึ่งมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน 1. ด้านพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน 2. ด้านการดำเนินคดี 3. ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ 4. ด้านการป้องกัน 5. ด้านการพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง ไอยูยู กรณีกรอบกฎหมายและการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง การจัดการกองเรือประมง การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง ระบบตรวจสอบย้อนกลับการบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน และการประสานงานกับสหภาพยุโรป หรืออียู

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องไอยูยู มากและหวังว่ามติครม. ดังกล่าว จะส่งผลให้การดำเนินการต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในทุกด้าน ซึ่งในขณะนี้ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ระบบ เป็นที่พอใจของอียู แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกระทรวงเกษตรฯต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน