บิ๊กสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ห่วงใช้ความรุนแรงปราบม็อบกระทบภาพลักษณ์ประเทศ-ภาคท่องเที่ยวสะดุด นักท่องเที่ยวเปลี่ยนใจไม่เดินทางมาประเทศไทย เหมือนฮ่องกง

บิ๊กสรท.ห่วงปราบม็อบแรง – นางกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ว่า มองว่าภาพการใช้ความรุนแรงระหว่างตำรวจ ทหาร และประชาชน ส่งผล กระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ไทยมีแผนจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนใจไม่เดินทางมาประเทศไทย เหมือนกับตอนที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ฮ่องกง

ซึ่งก็หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช้ความรุนแรง และเปิดทางให้มีการพูดคุย หาทางออกร่วมกันได้ ไม่อยากให้เกิดภาพออกมาแบบม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง เพราะในทุกประเทศเรื่องการเดินขบวนประท้วงถือเป็นเรื่องที่ทำกันได้เพื่อแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ฝรั่งเศส ก็มีการประท้วงประธานาธิบดี เป็นต้น

และมองว่ารัฐบาลไม่ควรจะบังคับไม่ให้ใครแสดงความคิดเห็นด้วยการออกมาสกัด เพราะเห็นว่ายิ่งบังคับ ยิ่งสกัด คนก็ยิ่งอยากออกมาแสดงความเห็นมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเปิดใจรับฟัง และหาทางออกร่วมกันกับประชาชนเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศยังเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากยังมีการชุมนุมและมีการใช้ความรุนแรงจะประทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยวของไทยอย่างแน่นอน ส่วนภาคการลงทุนต้องขอจับตาดูไปสักระยะว่าม็อบจะยืดเยื้อออกไปยาวนานแค่ไหน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เอกชนมองว่ายังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ประกาศที่รัฐบาลประกาศอกมายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งหากเป็นในอดีตอาจจะกระทบในเรื่องของการเดินทาง รวมถึงการลงทุนของต่างชาติ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางของนักท่องเที่ยว และนักลงทุนยังไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ดังนั้นยังไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก

แต่ทั้งนี้ เอกชนก็หวังว่าเหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อ จบเร็วและไม่มีความรุนแรง ซึ่งหากทั้ง 3 ปัจจัยไม่มีความรุนแรงยังถือว่าปกติ เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็มีเหตุประท้วงรัฐบาลในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นคงต้องรอดูว่ารัฐบาลขะรับมืออย่างไรในระยะยาว จะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร หรือเดินหน้าอย่างไรที่จะไม่กระทบกับเศรษฐกิจในประเทศเพราะทุกวันนี้ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

“หากการประท้วงลากยาว หรือการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลากยาวไปเป็นเดือนก็คงต้องมีการประเมินใหม่ เพราะตอนนี้ไทยเองพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หากไม่กระทบกับเศรษฐกิจในประเทศก็ถือว่าไม่หนักมาก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน