นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ตนเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิตอล (Digital Platform) ระหว่าง กทพ. กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อร่วมกันศึกษาการพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด โดยปัจจุบัน กทพ. มีต้นทุนค่าไฟฟ้าส่องสว่างทางพิเศษ อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และศูนย์ควบคุมทางพิเศษปีละประมาณ 168 ล้านบาท ซึ่งโครงการครั้งนี้จะช่วยทำให้ค่าไฟลดลงเหลือปีละ 117 ล้านบาท หรือลดลง 51 ล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่ากทพ. กล่าวว่า กทพ. และ กฟภ. จะตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างทางพิเศษ เป็นหลอดไฟแอลอีดี ตั้งเป้าจะดำเนินการบนทางพิเศษซึ่งมีระยะทางกว่ารวม 200 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
ส่วนรูปแบบการลงทุนต้องหารือกับกฟภ. ก่อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 ปีนี้ ตั้งเป้าระยะแรกจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 30% และในระยะยาวจะลดลงได้ 50%

ทั้งนี้ มองว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่า เพราะจะคืนทุนภายใน 6-7 ปี โดย หลังจากนี้ กทพ. จะเร่งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้ กทพ. จะมีรายได้ลดลงไม่มาก แม้ว่าจะเกิดปัญหาโควิด-19 คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท และมีกำไรประมาณ 5 พันล้านบาท

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า จะใช้เวลาการศึกษาประมาณ 3 เดือน ซึ่งในส่วนของ Solar Rooftop มีต้นทุนการติดตั้งเมกะวัตต์ละ 30 ล้านบาท โดยหากจะติดตั้งต้องดำเนินการบนอาคารที่ทำการ หรือด่านเก็บเงิน ส่วนการติดตั้งเปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดีนั้น ต้องลงไปศึกษาคุณสมบัติในการส่องสว่างของแสงก่อน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแอลอีดี จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ 50% โดยขณะนี้มีแผนจะร่วมมือดำเนินโครงการดังกล่าวกับกรมทางหลวง (ทล.) ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน