คลังสั่งตรึงเป้าภาษีปีงบ 64 จี้สรรพากรรีดรายได้ 2.085 ล้านล้านบาท แม้ประเมินปีนี้จะรายได้สูญกว่าแสนล้านบาท หลังออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนสู้โควิด

คลังสั่งตรึงเป้าภาษีปีงบ 64 – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยังไม่มีนโยบายให้ปรับลดการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ที่ 2.085 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ กรมฯ ต้องขอดูสภาพแวดล้อม รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2564 กรมฯ ประเมินในเบื้องต้นว่าการจัดเก็บรายได้จะหายไปประมาณ 1.2-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อเป็นการเติมสภาพคล่อง หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่น การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% ซึ่งประเมินว่ารายได้ในส่วนนี้จะหายไปประมาณ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ประเมินว่ามาตรการช้อปดีมีคืน จะทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการให้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่ออกไปแล้วในปี 2563 และจะมีผลต่อรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมมาตรการอื่นๆ ที่คาดว่ารัฐบาลจะออกมาเพิ่มเติมในปีนี้

“รายได้ที่หายไปมาจากการที่กรมฯ มีมาตรการนช่วยเหลือ โดยเฉพาะการลดหย่อนในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะมีสัดส่วนสูง ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลก็จะหายไปในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการเรื่องการเลิกจ้าง การอบรมสัมมนา การกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล” นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 1.833 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการจัดเก็บที่ปรับใหม่ ซึ่งรวมผลกระทบของโควิด-19 ไปแล้ว อยู่ที่ 1.82 ล้านล้านบาท ถือว่าทำได้สูงกว่าเป้าหมาย แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ที่ 2.11 ล้านล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2564 กรมฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส เพิ่มอีกประมาณ 5 พันล้านบาท จากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการด้านความบันเทิง ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านคณะกรรมาธิการวาระสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างรอเข้าสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดประชุมในสมัยหน้า ซึ่งหากกฎหมายผ่าน ผู้ประกอบการจะมีเวลา 6 เดือนในการเตรียมความพร้อม

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการด้านความบันเทิง จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ทันทีที่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ปัจจุบันหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นจดเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ผ่านมาจากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ก็ยินดีที่จะดำเนินการ

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) นำนวัตกรรมให้ความรู้ทางภาษี taxliteracy .academy มาให้ความรู้ผู้เสียภาษีแบบดิจิทัล เช่น กลุ่มแม่ค้าออนไลน์ เป็นต้น โดยสาระสำคัญ เช่น การให้ทดลองเล่นโดยเลือกรูปแบบและเส้นทางวางแผนภาษี สำหรับผู้ประกอบการผ่านการตอบคำถามง่ายๆ ในผลิตภัณฑ์การให้ความรู้ภาษี และมีการอธิบายเปรียบเทียบระหว่างการเสียภาษีประเภทต่างๆ รวมทั้งการให้ความรู้ผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน