นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” จัดโดย มติชน ร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม สกรศ. มีกำหนดหารหารือร่วมกับวิปรัฐบาลเพื่อเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวันที่ 28 ก.ย.นี้ คาด สนช. จะเห็นชอบและประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

“ที่ผ่านมานักลงทุนรอความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี จึงมั่นใจว่าการเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ครั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยปีนี้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีมากกว่าเป้าหมายเดิมตั้งไว้ที่ 30 ราย”

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างพูดคุยรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดประเด็นหารือกับสหรัฐในโอกาสติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐตามคำเชิญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ช่วงต้นเดือนต.ค.นี้ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนสหรัฐสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีของไทยได้ในอนาคต

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ขอให้ใช้มาตรา 44 ในการจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว เพราะตามขั้นตอนปกติต้องใช้เวลาจัดทำ 2-4 ปี ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก 1.6 แสนล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) 2.1 แสนล้านบาท กำหนดการประกาศหลักเกณฑ์ประกวดราคา (ทีโออาร์) ปลายปีนี้ คาดแล้วเสร็จภายใน 5 ปี

ส่วนโครงการพัฒนา 3 ท่าเรือน้ำลึก ขณะนี้แผนพัฒนาท่าเรือสัตหีบแล้วเสร็จ มีแผนเริ่มก่อสร้างช่วงแรกปลายปีนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด 6-8 หมื่นล้านบาท มีกำหนดการประกาศทีโออาร์ ปี 2561 และตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จภายใน 7 ปี และโครงการก่อสร้างโยธา 1.5 แสนล้านบาท

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการลงทุนรวมขยายตัวเพียง 3% ทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวได้เพียง 2-3% ต่อปี แต่จากการลงทุนครั้งใหญ่ในอีอีซีซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ คาดว่าจะทำให้การลงทุนของไทยขยายตัว 10% สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้โตได้ 5% ต่อปี โดยการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาด้านบุคลากร ในพื้นที่อีอีซีเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนลงทุนของประเทศในอนาคต (Hub for the future)”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (พีพีพี:PPP) หรือระเบียบอีอีซี แทร็ก (EEC Track) 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 4-5 แสนล้านบาท เพื่อเร่งหาเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีกับภาครัฐทั้งในโครงการสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ เพื่อให้เกิดการลงทุนในปี 2561 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มเห็นได้ภายในปลายปีนี้

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างดำเนิน การเตรียมพื้นที่สำหรับนักลงทุน โดยภายใน 5 ปีจะต้องเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน 5 หมื่นไร่ ซึ่งขณะนี้เหลือพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเติมให้ครบอีก 1 หมื่นไร่ เบื้องต้นมีแนวทางจัดหาพื้นที่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การเปิดให้เอกชนร่วมดำเนินงาน การใช้พื้นที่รัฐในการดำเนินงาน และเจรจาขอซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาพัฒนา

“ในพื้นที่ที่ กนอ. ต้องจัดหาและพัฒนาเพิ่มเติม 1 หมื่นไร่ หาก กนอ.ลงทุน 50% จะต้องใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท รวมกับการพัฒนาพื้นที่สมาร์ทพาร์คอีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแล้ว พื้นที่ 1,400 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อากาศยาน อุปกรณ์การเพทย์ และหุ่นยนต์และระบบอัตโนม้ติ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 1.5 หมื่นล้านบาท”นายวีรพงศ์ กล่าว

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่ลดหย่อนภาษีอีก 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี ต่อเนื่องจากสิทธิประโยชน์เดิมที่ได้รับ ซึ่งจะหมดอายุภายในวันที่ 31 ธ.ค.2560 ทางบีโอไอจะออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ออกมาทดแทนฉบับเดิม ส่วนรายละเอียดการให้สิทธิประโยชน์จะเป็นอย่างไรอยู่ระหว่างพิจารณา

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี แต่รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าเกษตร เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากลงทุนครั้งนี้ด้วย สำหรับความคืบหน้าการติดตามผลการเยือนอีอีซีของคณะนักลงทุนญี่ปุ่นนั้น หลังจากวันที่ 1 ต.ค.นี้ บีโอไอจะเริ่มเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นที่นำกลุ่มนักธุรกิจมาเยือนไทย เพื่อให้เกิดการลงทุนจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน