นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เรียกหน่วยงานจัดเก็บรายได้ประชุม เพื่อทำแผนการเก็บรายได้ในอนาคตให้ได้มากเพียงพอที่จะทำให้งบประมาณของประเทศเข้าสู่สมดุลเร็วที่สุด โดยให้หน่วยงานต่างๆ ไปทำแผนให้ชัดเจนและนำกลับมาเสนออีกครั้งใน 2 สัปดาห์

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรายได้ ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ดูนโยบายการเก็บรายได้ภาพรวมของประเทศ มี 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร นอกจากนี้ ยังมีกรมธนารักษ์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ดูแลการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

“คลังมีหน้าที่ดูเสถียรภาพการคลัง ซึ่งต้องทำงบประมาณของประเทศให้เข้าสู่สมดุลให้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ในเร็วๆ 2-3 ปี นี้ แต่ในระยะกลางต้องทำงบประมาณของประเทศเข้าสู่สมดุลให้ได้ เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ”นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปี โดยงบประมาณ 2560 มีการขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 มีการขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในช่วงที่เอกชนยังไม่มั่นใจลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสมชัย กล่าวว่า การทำงบประมาณเข้าสู่สมดุล จะต้องดูรายได้ที่จะเก็บได้ในอนาคต มาตรการต่างๆ ที่จะออกมาดูแลเศรษฐกิจ และรายจ่ายของประเทศว่าจะมีส่วนไหนเพิ่มและส่วนไหนที่จะลดลงได้ และจะมีมาตรการอะไรมาลดภาระงบประมาณ เช่น การลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (พีพีพี) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) ที่กำลังดำเนินการอยู่

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะขยายได้มากกว่า 3.7% ซึ่งคลังต้องการให้ขยายตัวได้ 4% อย่างไรก็ตาม เอกชนยังไม่ยอมลงทุน แต่การเดินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้เอกชนเข้ามาลงทุนจำนวนมาก จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงและมีเสถียรภาพในอนาคต ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศทำงบประมาณสมดุลได้เร็วขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน