แบงก์ชาติห่วงม็อบฉุดการบริโภคปลายปี หลังเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 ไม่ติดลบหนักเหมือนไตรมาส 2

แบงก์ชาติห่วงม็อบฉุดบริโภค – น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2563 จะฟื้นตัวจากไตรมาส 2/2563 ที่ติดลบ 12.2% โดยการขยายตัวจะหดตัวลดลง และไม่ถึง 2 หลักแน่นอน แม้ว่าจะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ยังหดตัวอยู่ แต่ก็เป็นการหดตัวที่ลดลง ซึ่ง ธปท. จะติดตามว่าแรงส่งนี้จะมีความต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4/2563 หรือไม่ ถ้ายังไม่มีปัจจัยอะไรสะดุดเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงในระยะต่อไปที่ต้องติดตาม

“ตอนนี้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่กำลังซื้อยังมีความเปราะบาง ถ้ามีอะไรมากระทบก็จะหดตัวลงไปอีก ยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองก็จะเป็นตัวสร้างความกังวลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนสะดุด แต่ขณะนี้ถ้ามองจากแรงส่งในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคก็ยังขยายตัวต่อไปได้” น.ส.ชญาวดี กล่าว

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 ที่ปรับดีขึ้นมาจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวสูงในไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ และปัจจัยรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ส่วนตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงเปราะบาง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. 2563 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติในหลายภาคส่วน และจากปัจจัยชั่วคราวเรื่องวันหยุดยาวพิเศษ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการหลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนก่อน ขณะที่ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้น

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนกลับมาทรงตัว หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน โดยได้รับผลดีจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ที่เลื่อนมาจากเดือนเม.ย. และปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้นตามรายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตร ส่วนภาคการส่งออกหดที่ 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 3.7% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวถึง 13.6% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวน้อยลง ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้า หดตัวที่ 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามการผลิตที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและการใช้จ่ายในประเทศ และมีผลของฐานต่ำในปีก่อนในหมวดการผลิตยานยนต์และปิโตรเลียม ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งทิศทางความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่าประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ที่ลดลง แต่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกทองคำที่น้อยลง

“ยังต้องจับตามาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างจาติ จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน และต้องจับตาเรื่องการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในต่างประเทศ ต้องดูว่าจะรุนแรงแค่ไหน และมาตรการจัดการว่าจะควบคุมได้ดีแค่ไหน หากดูแลไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก” น.ส.ชญาวดี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน