เปิดกลยุทธ์ท่องเที่ยวไทย
รุกหนักปี2564-หวังฟื้นคืน
รายงานพิเศษ
เปิดกลยุทธ์ท่องเที่ยวไทย – ก่อนการระบาดของโควิด-19 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศว่า ปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านบาท นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในไทย 2 ล้านล้านบาท
แต่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวเหลือเพียง 655,000 ล้านบาท ลดลง 1.57 ล้านล้านบาท หรือลดลง 70.57% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ลดลงทั้งจากตลาดต่างประเทศ และตลาดคนไทยเที่ยวไทย ผลมาจากการระงับการเดินทางกันทั่วโลก
แบ่งเป็นจํานวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาประเทศไทย 6.69 ล้านคน ลดลง 22.77 ล้านคน หรือคิดเป็น 77.29% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีรายได้เท่ากับ 332,000 ล้านบาท ลดลง 1.10 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 76.77% ของช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่วนไทยเที่ยวไทย มีจำนวนผู้เดินทางทั้งสิ้น 52.71 ล้านคน–ครั้ง ลดลง 63.57 ล้านคน–ครั้ง หรือคิดเป็น 54.67% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่าย เพื่อการท่องเที่ยว 323,000 ล้านบาท ลดลง 474,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.46% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ไม่ได้หมดหวัง เพราะการปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย หลายประเทศใช้วิธีล็อกดาวน์ จนทำให้ยอด ผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งประเทศไทย ที่รัฐบาลตั้งการ์ดสูง ป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นรอบ 2
ส่วนกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬาในยุคของ “นายพิพัฒน์” ไม่ได้หยุดคิด ยังประสานหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ เพื่อร่วมกันหามาตรการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยของคนไทยจากโควิด-19
กระทั่ง 20 ต.ค.2563 นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจากจีน เดินทางถึงไทย จำนวน 39 ราย ภายใต้ ‘Special Tourist Visa’ (STV) แต่วันนั้นยังไม่สามารถประกาศความสำเร็จได้ เพราะต้องลุ้นว่ากลุ่มแรกที่เข้ามาในไทยจะปลอดเชื้อหรือไม่
หลังถึงไทยและกักตัวภายใต้มาตรฐานสาธารณสุขของรัฐบาล ครบ 14 วัน หลังจากนั้นจะพิจารณากักตัว 7 วัน และอาจไม่กักตัวเลยก็ได้
การทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายใต้มาตรการคุมเข้มของรัฐบาลไม่ได้ง่าย เพราะเหลือ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้แล้ว ยังไม่เห็นทีท่าว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เพราะตราบใดวัคซีนยังไม่มี ตราบนั้นการท่องเที่ยวก็คงทำได้เพียงพยุงสถานการณ์ไว้ไม่ให้แย่ไปกว่าปัจจุบัน เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีลมหายใจ ไม่ล้มหายตายจากมากกว่านี้
ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.มองข้ามสถานการณ์ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ไปถึงปี 2564 โดยสรุปแผนปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปี 2564
ตั้งเป้าหมายรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก ด้วยรายได้ทางการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 0.7-1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ตลาดในประเทศอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท รายได้ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 0.3-1 ล้านล้านบาท
ส่วนแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ททท.มุ่งกระตุ้นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิด-19 ให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับปี 2562
โดยกำหนดเป้าหมายของปี 2564 จากการคาดการณ์แนวโน้ม 3 สถานการณ์
สถานการณ์ที่ 1 ฟื้นตัวปลายปี 2564 ตั้งแต่ ต.ค.2564 เป็นต้นไป ภายใต้ข้อสมมติฐานหลักคือประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ประเทศไทย
แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ โดยเศรษฐกิจภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 ติดลบ 8% คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 66.03 ล้านคน–ครั้ง หดตัว 26.8% และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 3.79 แสนล้านบาท หดตัว 24%
ส่วนกรณีที่ 2 ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เฉพาะบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก หรือจังหวัดท่องเที่ยวรองที่มีศักยภาพ หรือมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ติดลบ 3% คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 76.18 ล้านคน–ครั้ง หดตัว 15.5% และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 4.58 แสนล้านบาท หดตัว 8.3%
สถานการณ์ที่ 2 ฟื้นตัวกลางปี 2564 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 93.30 ล้านคน–ครั้ง เพิ่มขึ้น 3.4% มีรายได้ทางการท่องเที่ยว 5.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1%
และสถานการณ์ที่ 3 ฟื้นตัวเร็วในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 99.1 ล้านคน–ครั้ง เพิ่มขึ้น 9.8% และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 5.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1%
ภายใต้ข้อสมมติฐานหลักคือประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่
ด้าน นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า จัดทำแผนการตลาดนักท่องเที่ยวตลาดเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น
ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 ไว้ 11.16 ล้านคน ลดลง 32.41% เมื่อเทียบจากปี 2562 (ปีที่มีสถานการณ์ปกติ)
การคาดการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ในกรณีสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการเดินทางใดๆ
โดยจะมีนักท่องเที่ยวจากตลาดจีน 7.45 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.21 ล้านคน ญี่ปุ่น 997,000 คน ฮ่องกง 989,500 คน และไต้หวัน 516,000 คน
ททท.ยังคงกำหนดแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีโควิด-19 โดยตั้งเป้าหมายเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคนทำงาน หรือกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเป็น ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 2523-2543
เพราะกลุ่มมิลเลนเนียลตอนนี้ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุด และมีความน่าสนใจ เพราะในสถานการณ์ของโควิดที่เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่กล้าตัดสินใจเดินทางมากที่สุด
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 30-40 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่ททท.ตั้งเป้าเจาะตลาด เพราะสนใจเรื่องโซเชี่ยลมีเดียและเทคโนโลยี สามารถรับข้อมูลข่าวสารจะเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ
ทำให้การจองที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวมาก และที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้สนใจท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์
“กลุ่มวัยเกษียณเริ่มหมดแรงเที่ยว จากนี้ต่อไปกลุ่มที่ ททท.จะเจาะตลาดคือกลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่มนี้มีพลัง ชอบท่องโลก ชอบเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว ใช้จ่ายง่าย เรื่อยๆ แต่อนาคตกลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและมูลค่า”
หากดูจากข้อมูล 2 ตลาดใหญ่คือ จีน ที่เดินทางเข้ามาในไทยมาปีละ 10 ล้านคน และอินเดีย 2 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล
โดยเฉพาะในจีน และอินเดียมีจำนวนคนในกลุ่มนี้กว่า 400 ล้านคน
กลุ่มมิลเลนเนียลแม้ไม่มีเงินมากเท่ากลุ่มเกษียณอายุ แต่มีความคล่องตัวในการเดินทาง เพราะไม่มีภาระ มีสุขภาพที่ดี
แม้รัฐบาลพยายามจะผลักดันมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้คนไทยออกไปเที่ยว พยายามเจรจาเพื่อเปิดให้เศรษฐี คนมีเงินหนีโควิดมาเที่ยวไทย แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ที่บอบช้ำจากมาตรการปิดประเทศ คนตกงาน รายได้ไม่มีจับจ่าย
นี่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของการกระตุ้นการท่องเที่ยวในรอบนี้