นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ระยะ 20 ปี ว่า สนข. ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 เพื่อให้เห็นแนวทางการพัฒนารถไฟในมุมกว้าง รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในภูมิภาคต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการและนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทาง พร้อมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ บรรจุโครงการพัฒนาทั้งหมด 38 โครงการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้น (ระยะเร่งด่วน) ระหว่างปี 2560-2564 เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน หรือโครงการที่สามารถดำเนินได้ภายใน 5 ปีแรกตามแผนแม่บทฯ จำนวนรวม 13 โครงการ

แผนระยะกลางระหว่างปี 2565-2569 เป็นโครงการที่สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปีที่ 6-10 ตามแผนแม่บทฯ จำนวน 13 โครงการ

และแผนระยะยาว ปี 2570-2579 เป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายหลังปีที่ 10 ตามแผนแม่บทฯ จำนวน 12 โครงการ

การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟจะประกอบการด้วย 5 รูปแบบ คือ 1. การพัฒนาทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟปัจจุบันรวม 16 โครงการ ระยะทาง 2,777 กิโลเมตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น,

2. การพัฒนาทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (Meter gauge) เส้นทางใหม่ในพื้นที่ที่มีความจำเป็น 14 โครงการ รวมระยะ 2,352 กิโลเมตร เช่น สายเด่นชัย-เขียงของ, สายบ้านไผ่-นครพนม เป็นต้น

3. แผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (Standard gauge) ขนาดราง 1.435 เมตร รวม 8 โครงการ รวมระยะ 2,457 กิโลเมตร เช่น รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง, สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, สายกรุงเทพฯ-หัวหิน, สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เป็นต้น,

4. การจัดสรรตำแหน่งคลังเก็บสินค้า (Container yard : CY) เช่น หว้ากอ, หนองปลาดุก ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าโลจิสติกส์นาทา เป็นต้น 5. แผนการพัฒนาระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า เช่น การศึกษาเพื่อจัดทำแผนที่นำทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบไฟฟ้าในการเดินรถ การก่อสร้างและติดตั้งระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางช่วงชุมทางบางซื่อ-บ้านภาชี-แก่งคอย-ถนนจิระ เป็นต้น ซึ่งส่วนที่ 4 และ 5 จะอยู่ในงบลงทุนโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงต่างๆ

ทั้งนี้ หลังรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้ว สนข. จะสรุปแผนแม่บทและนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาไม่เกินปลายปี 2560

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า การลงทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ ระยะเวลา 20 ปี จะใช้วงเงินรวมกว่า 2,702,934 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 1,973,851 ล้านบาท และภาคเอกชน 729,083 ล้านบาท ถ้าเฉลี่ยวงเงินลงทุนแต่ละปีจะอยู่ที่ 135,147 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐเฉลี่ยปีละ 98,693 ล้านบาท และภาคเอกชนเฉลี่ยปีละ 36,454 ล้านบาท

แผนงานระยะเร่งด่วนจะมีมูลค่า 829,802 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 642,802 ล้านบาท และจากภาคเอกชน 187,000 ล้านบาท, แผนระยะกลางวงเงินลงทุนรวม 897,568 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 692,128 ล้านบาท และภาคเอกชน 205,441 ล้านบาท, แผนระยะยาว มีมูลค่าอยู่ที่ 975,564 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 638,922 ล้านบาท และภาคเอกชน 336,642 ล้านบาท

สำหรับการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลงทุนตามแผนแม่บท ซึ่งจะเสร็จสิ้นในปี 2580 จะอยู่ที่ 408,008.64 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยานพาหนะ 158,138.90 ล้านบาทต่อปี, ประโยชน์จากการลดเวลาเดินทาง 94,35160 ล้านบาทต่อปี, ประโยชน์จากการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน 17,258.41 ล้านบาทต่อปี และประโยชน์จากการลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก 138,259.73 ล้านบาทต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน