สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยปรับตัวเลขส่งออกทั้งปีติดลบน้อยลง อยู่ที่ -7% มั่นใจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

สรท. ปรับเป้าส่งออกติดลบ7% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้หดตัวน้อยลงที่ 7% จากเดิมคาดว่าการส่งออกจากหดตัว 8-10% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงต้นปี ทิศทางการส่งออกไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งและมั่นใจว่าผ่านจุดต่ำสุดของการส่งออกไปแล้วตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี เชื่อว่าน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกหดตัวน้อยลง

แม้ว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.หดตัว 3.86% คิดเป็นมูลค่า 19,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้หดตัว 7.33% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 172,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็เป็นตัวเลขการส่งออกหดตัวน้อยลงจากที่ได้มีการประเมินไว้ เนื่องจากกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่สามารถขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำมันปาล์ม ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปกลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม แม้จะหดตัวที่ 3.9% แต่ยังมีสินค้าหลายตัวที่ขยายตัว เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ถุงมือยาง เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ถุงมือยาง

ส่วนปี 2564 สรท. ประเมินการส่งออกว่า จะขยายตัว 5% ซึ่งมีปัจจัยหลักมากจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และการส่งออกของไทยเริ่มเป็นบวกมากขึ้นในหลายตลาด นอกจากสหรัฐและจีนที่มีการขยายตัวต่อเนื่องแม้จะมีปัญหาสงครามการค้าและโควิด-19 ซึ่งคาดว่าสินค้าที่ไทยจะขยายตัวได้ดีจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร เกษตร

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการจับตาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ประกอบด้วย การระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในทวีปยุโรป โดยพบมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ส่งผลให้มีการกลับมาประกาศใช้นโยบายล็อกดาวน์เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 1 เดือนอีกครั้ง ปัญหาการขาดแคลนตู้สำหรับบรรจุสินค้าหลายเส้นทางจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่พร้อมกันหลายประเทศโดยเฉพาะจีน ค่าเงินบาททรงตัวในระดับที่แข็งค่าเป็นแรงกดดันจากความไม่แน่นอนจากนโยบายการเมืองสหรัฐในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลัง และการนำเข้าที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าทุนที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวค่อนข้างยากและอาจมีสถานการณ์เช่นนี้ไปจนถึงต้นปีหน้าได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน