ครม.สัญจร ไฟเขียว ปรับปรุง-เพิ่ม-ขยายเวลา มาตรการด้านการเงินต่อลมหายใจเอสเอ็มอี – ลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น

ครม.ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยผลประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จ.ภูเก็ต ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขมาตรการด้านการเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยการปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนท่องเที่ยวต่อรายของธนาคารออมสิน เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

นอกจากนี้ ให้ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัสวงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ครอบคลุมถึงเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อ sit an ท่องเที่ยวได้ แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งบสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี เริ่มค้ำประกันต้นปีที่ 3 นับจากวันที่เอสเอ็มอีแต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

การขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อซอฟต์โลนออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยว และซัพพลายเชน วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

การขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อเอ็กซ์ตร้า แคช วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

ขณะเดียวกัน ยังมีมติเห็นชอบให้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2564 เป็นเวลา 5 เดือน คิดเป็นเงินประมาณ 700 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อให้สายการบินสามารถปรับลดค่าโดยสารกับประชาชน เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนให้ลดลง ส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน