ศบศ.คลอดแพ็กเกจดึงต่างชาติเที่ยวไทย เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวภายใต้วีซ่าเอสทีวี – คาดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนแรก 2 พันราย

ศบศ.คลอดแพ็กเกจดึงต่างชาติ – นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ว่า ททท. เสนอแพ็กเกจเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวภายใต้วีซ่าเอสทีวี สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ภายใต้แพ็กเกจ 1. Bangkok Extra พัก 2 คืน ฟรี 1 คืน แถมโปรแกรมซิตี้ทัวร์ให้ฟรี 2. โปรแกรม Bangkok and Beyond # 1 พัก 2 คืน ฟรี 1 คืน สนับสนุนรถยนต์ในการเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างจังหวัดได้ 3. แพ็กเกจ Bangkok and beyond # 2 พัก 3 คืน ฟรี 2 คืน แถมตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ โดยทั้งหมดนักท่องเที่ยวจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าคนละ 93,000 บาท และต้องเป็นผู้ที่ผ่านการกักตัวแล้ว และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนแรกประมาณ 2,000 ราย ทั้งนี้ แพ็กเกจดังกล่าวจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีความตั้งใจในการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจริงๆ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ต่างชาติเดินทางมาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้โปรแกรม Elite Flexible Program หรือ Flex plus โดยมีเป้าหมายคือ ต่างชาติที่ถือบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด หรืออีลิท คาร์ด โดยกำหนดเงื่อนไขต้องถือบัตรที่มีมูลค่าบัตร 1 ล้านบาท ขึ้นไป และอายุบัตรตั้งแต่ 5 ปี กำหนดให้ผู้ถือบัตรต้องลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลาการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ตลาดทุน บมจ. รวมจะมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายการขออนุญาตทำงาน (work permit) ให้กับกลุ่มคนดังกล่าว จากเดิมที่จะให้เฉพาะผู้มีวีซ่า Non -B เท่านั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อตอบสนองแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในการดึงดูดให้กลุ่มนักธุรกิจนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสมาชิกบัตรดังกล่าว 10,000 ราย มูลค่าบัตร 5 แสน – 2 ล้านบาท อายุบัตร 5-20 ปี

นายดนุชา พันพิชญนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมได้รายงานข้อมูลการลงทะเบียนโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่ามีประชาชนลงทะเบียนรวม 6.38 ล้านคน คนลงทะเบียนสำเร็จ 6.07 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียน 7.8 พันแห่ง ร้านอาหาร 64,000 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยว 1.9 พันแห่ง โอท็อป 1.2 พันแห่ง

การใช้สิทธิ 3.09 ล้านสิทธิ มูลค่าห้องพักที่จอง 8.4 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประชาชน 5.2 พันล้านบาท รัฐสนับสนุน 3.2 พันล้านบาท ราคาเฉลี่ยห้องพักต่อคืนที่จอง 2,800 บาท จำนวนโรงแรมที่มีการจอง 4.7 พันแห่ง ผู้ได้รับคูปองอาหาร 6.9 แสนราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 2.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายประชาชน 1.5 พันล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านคูปอง 974 ล้านบาท เชคอินแล้ว 1.1 ล้านบุกกิ้ง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเพิ่มเติมอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ย. 2563 จำนวน 722,598 สิทธิ โดยเป็นการรวบรวมสิทธิคงเหลือจากผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิในรอบที่ผ่านมา จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเตรียมลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00 – 23.00 น. จนกว่าจะครบจำนวน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่เคยได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งมาก่อน และผู้ประสงค์จะใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิมาตรการช้อปดีมีคืนได้ สำหรับการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมจำนวนกว่า 7 แสนสิทธิดังกล่าว เป็นการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อให้ครอบคลุมผู้เข้าร่วมโครงการตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านคน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ตลอดจนพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมศบศ. อีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน