วันที่ 8 ธ.ค. นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.ภูมิใจไทย ประธานกมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อเสนอให้ต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับการแบกรับภาระหนี้สินของกทม. ว่า ทางกมธ.ยืนยันตามเดิมว่าไม่เห็นด้วย หลังจากได้พิจารณาโดยให้ตัวแทนทั้งจากฝ่ายกทม. และฝ่ายบีทีเอส มาชี้แจงก่อนหน้านี้ แต่ผลปรากฎว่าไม่สามารถชี้แจงข้อมูลที่เป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเวลาที่เหลืออายุสัมปทานอีก 9 ปี ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมจำเป็นต้องต่อสัมปทานในขณะนี้ไปอีก 30 ปี

นายโสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้เรื่องค่าโดยสารที่ระบุว่าอัตรา 65 บาทตลอดสายนั้นคำนวณมาจากอะไรก็ไม่สามารถตอบได้ เพียงแต่บอกว่าเป็นอัตราที่ประชาชนยอมรับได้เท่านั้น ซึ่งก็ตอบไม่ได้อีกเช่นกันว่าไปสำรวจประชาชนที่ไหนที่รับได้ และไม่ได้ประเมินจากต้นทุน จำนวนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเรื่องค่าตั๋วร่วมที่ต้องบูรณาการให้เป็นไปตามมาตรฐาน และลดค่าแรกเข้าของระบบคมนาคมทุกวสายที่ไม่ต้องเสีย แต่กลับยกเว้นสายสีเขียว

นายโสภณ กล่าวว่า ไม่เพียงแค่นั้นการเสนอต่อสัมปทานโดยอ้างคำสั่งตามม.44 ของคสช.นั้นก็ไม่เหมาะสม จริงอยู่หากเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถใช้ม.44ได้ แต่เมื่อกรณีนี้ตอบไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ทำไมต้องใช้ม.44 ต้องยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมาค่าโง่ มี 2 อย่าง คือกรณีถูกฟ้องร้องจากเอกชนคู่สัญญาสัมปทาน กับอีกอย่างคือค่าโง่ที่เสียโอกาส เสียโอกาสที่จะได้บริหารงานในธุรกิจที่มีผลกำไร ด้วยการต่อสัมปทานให้เอกชน อันนี้ก็ต้องมาพิจารณา ซึ่งหากไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน การดำเนินการตามพรบ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน ก็เป็นทางเลือกที่ดีอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ระบุว่าหากไม่ต่อสัมปทาน ค่าโดยสารอย่างพุ่งขึ้นเป็น 158 บาทต่อเที่ยว นายโสภณ กล่าวว่า บริษัทเอกชนเองก็หวังกำไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีธรรมาภิบาลที่ควบคุมการดำเนินกิจการ ประชาชนก็รับทราบว่าบริษัทดำเนินกิจการอย่างไร เรื่องนี้รัฐบาลเองก็ต้องมองถึงอนาคต แน่นอนว่าหากไม่ต่อสัมปทานในช่วงนี้ อาจทำให้ค่าโดยสารขึ้นบ้าง แต่ในอนาคตเมื่อสัมปทานหมดแล้วรัฐนำกลับมาบริหารเอง ย่อมทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า กทม.ระบุว่าไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินได้ จึงต้องต่อสัมปทานให้บีทีเอส นายโสภณ กล่าวว่า หากกทม.รับภาระไม่ได้จริงๆก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ของกระทรวงคมนาคม ที่จะต้องหาเงินกู้ดอกเบี้ยถูกให้กทม.นำมาเสริมสภาพคล่อง ซึ่งแนวโน้มของธุรกิจรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่วิ่งผ่านใจกลางเมือง มีกำไรอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดทุน ที่สำคัญก็ไม่เข้าใจว่ากทม.ไปบริหารอย่างไรกับธุรกิจที่มีโครงสร้างเข้มแข็ง ทำกำไรได้ขนาดนี้แล้วบอกว่าเป็นหนี้รับไม่ไหว

“ผมไม่ได้ค้านหัวชนฝาว่าห้ามต่อสัมปทานให้บีทีเอส แต่ที่ผ่านมาตอบคำถามไม่ได้สักอย่าง แล้วจะให้สนับสนุนมันก็คงจะยังไงอยู่ จึงขอเรียกร้องให้ทั้งกระทรวงมหาดไทย กทม. และบีทีเอส ทำอะไรให้ตรงไปตรงมา ตอบคำถามสังคมให้ได้ แล้วถ้าจำเป็นต้องต่อ ก็คงไม่มีใครคัดค้าน”นายโสภณ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน