นายชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จากที่ได้มอบนโยบายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 หรือ อพท. 2 ไปดำเนินการสำรวจศักยภาพและความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของพื้นที่และชุมชนในเขตภาคอีสานตอนใต้ จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ในเรื่องของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำมาพัฒนายกระดับเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
“การพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะมรดกทางภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไปได้ตามกาลเวลาและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากเรานำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวเข้ามายกระดับและพัฒนาให้เกิดเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวก็จะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ประโยชน์ทางอ้อมคือทำให้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งสิ่งนั้นถือเป็นความยั่งยืน”
ทั้งนี้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้บัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Culture Heritage) ค.ศ. 2003 ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และประเทศไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติด้วย
สำหรับในเรื่องนี้ อพท. เห็นว่าการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมอีสานใต้ จะเป็นการอนุรักษ์และการสืบทอดวัฒนธรรมให้มีชีวิตขึ้นมา โดยการให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ สัมผัสกับคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความซาบซึ้ง ประทับใจ และเกิดความยั่งยืนในมิติทางวัฒนธรรม ชุมชนเองจะมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
นายพลากร บุปผาธนากร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 อพท. กล่าวว่า พื้นที่อีสานใต้ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี ในปีงบประมาณ 2563 อพท. 2 พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมใน 3 จังหวัด รวม 10 กิจกรรม ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ ประกอบด้วย 1. กิจกรรมเพลงโคราช 2. กิจกรรมรำโทนพันปี 3. กิจกรรมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน 4. กิจกรรมผ้าภูอัคนี 5. กิจกรรมผ้าไหมหางกระรอกคู่ตีนแดง 6. กิจกรรมนวดไทยคลายเส้น 7. กิจกรรมวิถีคนเลี้ยงช้าง 8. กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมชาวกูย 9. กิจกรรมศิลปะการแสดงกะโน้บติงตอง และ 10. กิจกรรมศิลปะการแสดงกันตรึม และในปีงบประมาณ 2564 วางแผนพัฒนากิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบเดียวกันนี้ในอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ และจ.อุบลราชธานี จำนวน 5 กิจกรรม
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในรูปแบบของ อพท. ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจและความพร้อมของชุมชนที่ต้องการจะยกระดับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตัวเองที่มีอยู่ให้เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว จากนั้นจึงทำกระบวนการทำความเข้าใจกับเจ้าของกิจกรรม คัดเลือกกิจกรรมที่นำมาต่อยอดได้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการออกแบบกิจกรรม การพัฒนาบุคลากรต้อนรับนักท่องเที่ยว การพัฒนานักสื่อความหมาย การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสถานที่ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการให้บริการกับนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความประทับใจ การคิดราคาจากกิจกรรมที่พัฒนา การจัดเก็บข้อมูลรายได้ของเจ้าของกิจกรรม และการจัดกิจกรรมทดลองรับนักท่องเที่ยว เมื่อสำเร็จและมีความพร้อมดีแล้ว ล่าสุด อพท. จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัว 10 กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2564 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์สู่หน่วยงานภาคีเครือด้านการตลาดต่อไป