ผู้ว่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย คนใหม่ลั่น อัดงบลงทุน 1 ล้านล้านบาท 10 ปี รับยุคชีวิตวิถีใหม่

กฟผ.อัดงบลงทุน1ล้านล. – นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการฯ คนใหม่ คนที่ 15 พร้อมทีมผู้บริหาร ว่า กฟผ. ตั้งงบลงทุน 10 ปี (2564-2574) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท สำหรับลงทุนทั้งในธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (ปี 2563-2580) เน้นการปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคชีวิตวิถีใหม่ (นิว นอร์มัล) แบ่งเป็นเงินลงทุนปีละประมาณ 56,000 ล้านบาท สัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าและพัฒนาธุรกิจใหม่ 60% และอีก 40% จะเป็นการสร้างสายส่ง

ในส่วนของแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 5.5 ล้านตันในปี 2563-2565 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ หรือโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยานั้น จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเข้าไปถือหุ้นในแหล่งผลิตแอลเอ็นจี ภายใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เข้าสู่กระบวนการต้นน้ำมากขึ้น

ขณะเดียวกันจะเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับก๊าซธรรมชาติ โดยทำคลังเก็บก๊าซลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) ในอ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการใช้งานของโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิต 1,660 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 อีกด้วย โดยล่าสุดกำลังจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีเอไอ) อยู่ คาดว่าไตรมาส 1/2564 จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติการดำเนินงานและหลังจากนั้นจะประกาศหาผู้รับเหมาได้ทันที

นายบุญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2564 กฟผ. ยังจะเร่งก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ ซึ่งสามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ละเอียดในระดับ 30 นาที จนถึงในอีก 7 วันถัดไปได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ จะปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่นมีความพร้อมจ่ายสูง จะเริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 ควบคู่กับการพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก และงเตรียมขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้าฟ้าแบบเร็วขนาด 100 กิโลวัตต์ ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์วอลล์บ๊อกซ์ (Wallbox) และธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน

ยังหาพันธมิตรร่วมเป็นคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าไปต่างประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวขายผ่านระบบสายส่งไปประเทศมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ สิงคโปร์ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้งล่าสุดยังอยู่ระหว่างเจรจาขายไฟไปยังประเทศกัมพูชา 300 เมกะวัตต์ ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิม เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ปีหน้ายังมีแผนเปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าจากทุ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนต่างๆ ของกฟผ. ตั้งเป้าหมาย 2,725 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นปี 2564 นำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี 45 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถทำได้ทันที ช่วยลดปัญหาการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งยังจะขยายธุรกิจให้บริการดูแลบำรุงรักษาของเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เบื้องต้นมีโรงไฟฟ้าในลาวเป็นลูกค้าหลัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน