สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นห่วงเงินบาทแข็งโป๊กทุบส่งออกวอนแบงก์ชาติช่วยด่วน – ชี้ความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ดีขึ้นต่อเนื่อง
ส.อ.ท.ห่วงบาทแข็งโป๊ก – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอมรับมีความเป็นห่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน โดยการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 8.56% อยู่ที่ 30.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนเม.ย. 2563 อยู่ที่ 33.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกและรายได้จากการส่งออกลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามที่ค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นเพียง 1.97%
“การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นกว่าประเทศอื่นๆ เป็นข้อพิจารณาของประเทศคู่ค้า หากต้องการซื้อสินค้าจากไทย จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ไม่อย่างนั้นก็จะต้องไปทำการค้ากับประเทศที่มีค่าเงินแข็งกว่าเงินบาท อย่างออสเตรเลียที่ค่าเงินแข็งขึ้นกว่า 18.52%”นายสุพันธุ์ กล่าว
โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,258 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพ.ย. 2563 พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 70.5% อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในมุมมองของผู้ส่งออก 46.1% ราคาน้ำมัน 41% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.5% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 55%
ทาง ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอแนะต่อให้ธปท. ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันได้ ให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ที่สำคัญขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพราะยอมรับว่าผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศและในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 87.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 86.0 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดในประเทศได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนและการใช้จ่ายในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนต่างๆ ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ส่วนตลาดต่างประเทศ ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการป้องกันโรค และคำสั่งซื้อล่วงหน้าในกลุ่มสินค้าที่ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง สินค้าเซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้ภาคการผลิตเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนช่วงเดือนธ.ค. ที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล
อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.1 จากเดือนก่อนคาดจะอยู่ที่ระดับ 91.9 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป