นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคลื่นความถี่สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ตกลงจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 885-890 เมกะเฮิรตซ์ (ขาขึ้น) และ 930-935 เมกะเฮิรตซ์ (ขาลง) ที่มีความกว้าง 5 เมกะเฮิรตซ์ ให้กระทรวงคมนาคมนำมาใช้ในกิจการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน แต่กระทรวงมองว่าคลื่นความถี่ดังกล่าวมีความกว้างน้อยกว่าที่กระทรวงคมนาคมยื่นขอไปขนาด 10 เมกะเฮิรตซ์ จึงกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของระบบขนส่งทางราง

ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้กระทรวงต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวน (Filter) เพื่อกรองคลื่นความถี่ของระบบรางให้แยกออกจากคลื่นความถี่ของกิจการโทรคมนาคมที่อยู่ในช่วงคลื่นความถี่ติดกัน เพื่อป้องกันปัญหาคลื่นรบกวนซึ่งอาจจะส่งจะกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินรถ เบื้องต้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์บริเวณสถานีรถไฟ ขบวนรถ และตลอดแนวเส้นทางที่รถวิ่ง ส่วนบริษัทโทรคมนาคมก็ต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ของตัวเองเช่นกัน

“มอบให้การรถไฟฯ ไปสรุปรายละเอียดและวงเงินการติดตั้งฟิลเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะรู้ใน 1 เดือน จากนั้นต้องไปหารือและวางแผนกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือว่า พอเราพิจารณาร่วมกันแล้วก็แจ้งยืนยันให้ กสทช. ออกประกาศจัดสรรคลื่นความถี่ต่อไป” นายพีระพลกล่าว

นายพีระพลกล่าวต่อว่า สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกะเฮิรตซ์ ของระบบรางจะนำไปใช้ในการเดินรถไฟและรถไฟความเร็วสูง เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย, รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยคลื่นความถี่ย่าน 800 เป็นคลื่นที่มีมูลค่าสูง เพราะปัจจุบันนำมาจัดสสรรใช้ในกิจการโทรคมนาคม

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังขอให้กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 400 เมกะเฮิรตซ์เพิ่มเติม เพื่อใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ด้วย เพื่อรองรับระบบชิงกันเซ็ง โดยตอนนี้ฝ่ายญี่ปุ่นและ กสทช. อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน

นอกจากนี้ สั่งการให้ สนข. กลับไปศึกษาและจัดทำรายละเอียดแผนความต้องการใช้คลื่นความถี่ทางรางในระยะ 20 ปีข้างหน้าด้วย เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ กสทช. นำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน