นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแก้ไขปัญหาสนามบินเชียงใหม่แออัด ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมมีมติให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กลับไปศึกษาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแนวทางแก้ไขปัญหา 2 รูปแบบ ระหว่างการขยายศักยภาพสนามบินเชียงใหม่เดิม และการสร้างสนามบินใหม่เป็นสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 2561 จะนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิจาณาตัดสินใจ ว่าจะเลือกแนวทางใด

“ขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ระหว่างทอท. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดย ทอท. เห็นว่าควรใช้วิธีขยายสนามบินเดิมตามแผนของทอท. ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 20 ล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้า ขณะที่กพท. เห็นว่าควรสร้างสนามบินเชียงใหม่ เป็นแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาสนามบินของกพท. เพราะเห็นว่าการขยายสนามบินเดิมจะรองรับผู้โดยสารได้อีกแค่ 15 ปีเท่านั้น แต่หากสร้างสนามบินใหม่จะรองรับได้ตลอดไป ที่ประชุมจึงต้อง ทอท. ไปศึกษาเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ทั้ง 2 แนวทางให้ชัดเจนก่อน”

นอกจาก นี้ยังให้ ทอท. ศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในกรณีการสร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยให้นำเสนอมาพร้อมกับข้อดีข้อเสียด้วย เนื่องจากขณะนี้มีเอกชน จำนวน 2-3 ราย ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับต่างชาติ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 แล้ว ทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการบริหารจัดการสนามบิน เบื้องต้น มีความเป็นไปได้อาจจะใช้รูปแบบการเปิดให้มีการร่วมลงทุน ในรูปแบบพีพีพี

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สำหรับการขยายสนามบินเชียงใหม่ ตามแผน ทอท. นั้นวางแผนพัฒนา ระยะที่ 1 คือระหว่างปี 2559-2568 โดยจะมีการก่อสร้างปรับปรุงทางขับ, ขยายลานจอดอากาศยาน, สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่, ขยายอาคารรองรับ หลุมจอด เป็นต้น คาดว่าจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคน/ปี ได้ไปจนถึงปี 2573 ขณะที่ปัจจุบันมีความสามารถในรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน /ปี แต่ขณะนี้มีผู้โดยสารใช้บิการมากถึง 10 ล้านคน/ปี เกินขีดความสามารถอยู่ 2 ล้านคน/ปี จึงทำให้เกิดปัญหาความแออัด

ส่วนแนวทางตามแผนแม่บทพัฒนาสนามบินของ กพท. เห็นควรให้มีการก่อสร้างสนามบินรองใหม่แห่งใหม่ ขึ้นมาเป็นสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เพราะมองว่าการขยายสนามบินในพื้นที่เดิมจะซ้ำเติมปัญหาการจราจรในเขตเมือง และเบื้องต้นกำหนดว่าพื้นที่เหมาะสมจะต้องอยู่ห่างจากเชียงใหม่ไม่เกิน 20 ก.ม., ต้องมีระบบถนนที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้สะดวก, ขนาดพื้นที่สนามบินจะต้องมีรองรับผู้โดยสารให้ได้ ประมาณ 20-30 ล้านคน/ปี

“เบื้องต้นกพท. เห็นว่าพื้นที่ ที่จะใช้สร้างสนามบินที่เหมาะสมคือพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด คือ ระหว่าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เนื่องจากอยู่ติดกับเชียงใหม่ และปัจจุบันยังมีถนนของกรมทางหลวงเชื่อมต่อการเดินทางอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องมีการขยายช่องจราจรเพิ่มขึ้นในอนาคต”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน