โควิดทำค้าปลีกไทยสูญ 5 แสนล้าน คาดไตรมาสแรกปี 2564 ยังคงติดลบ 7-8% วอนภาครัฐอัดยาแรงอย่างต่อเนื่อง ชง 5 มาตรการเร่งด่วน

โควิดทำพิษค้าปลีกสูญ 5 แสนล. – นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ติดลบ 12.0% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก หรือ สูญเสียเม็ดเงินมูลค่า 5 แสนล้านบาท และคาดว่าจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่จะส่งผลให้ไตรมาส 1 ของปี 2564 ดัชนีค้าปลีกยังคงติดลบราว 7-8% ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงขอให้ภาครัฐวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน เพื่อลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่

พร้อมกันนี้สมาคมฯ เสนอ 5 มาตรการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที ประกอบด้วย 1. ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ 2. ภาครัฐควรช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) จากการที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ เกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ทางสมาคมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษนี้โดยผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งสามารถเข้าถึงเอสเอ็มอี เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็ว

3. ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ/ อีมาร์เก็ตเพลส ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูล ETDA มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน ทั้งเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่า ขณะที่มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ทำให้เอสเอ็มอีไทยไม่สามารถแข่งขันได้ 4. ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อไตรมาส

5. ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น จากงานวิจัย พบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน