นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจนถึงเดือนก.ย. หรือสิ้นปีงบ 2560 ว่า ขณะนี้ยังมีเจ้าหนี้เงินกู้ที่ยังไม่เข้ามายื่นคำขออนุญาตจัดตั้งพิโกไฟแนนซ์ หรือโครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดมากถึง 14 จังหวัด ซึ่งหลังจากนี้ สศค. จะเร่งประชาสัมพันธ์โครงการพิโกไฟแนนซ์ พร้อมกับประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาหนี้นอกระบบรุนแรงหรือไม่ เพื่อจับกุมอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ จะมีการนำข้อมูล 14 จังหวัดไปเปรียบเทียบกับสถิติการลงทะเบียนของผู้มีรายได้น้อยที่มีลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ว่า ทั้ง 14 จังหวัด มีคนเป็นหนี้นอกระบบอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการด่วน สำหรับรายชื่อ 14 จังหวัดที่ไม่ได้ขออนุญาตมีกระจายอยู่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อ่างทอง ชัยนาท นครปฐม สมุทรสงคราม สิงห์บุรี เพชรบุรี เลย ชุมพร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสตูล

นอกจากนี้ สศค. จะลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาต ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2560 เป็นต้นไป เพื่อดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการทำสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ถือว่าได้รับความสนใจดีกระจายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด โดยสถิติตั้งแต่เดือนธ.ค. 2559-ก.ย. 2560 มียอดยื่นคำขออนุญาต 369 ราย ใน 63 จังหวัด โดยจังหวัดที่ขออนุญาตมากสุด ได้แก่ นครราชสีมา 40 ราย กรุงเทพฯ 32 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 153 ราย ใน 46 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 83 ราย ใน 36 จังหวัด และมีผู้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 51 ราย ใน 32 จังหวัด

ส่วนยอดการปล่อยสินเชื่อ ถึงเดือนส.ค. 2560 มีสินเชื่อสะสม 1,859 บัญชี 58 ล้านบาท เฉลี่ย 31,513.61 บาทต่อบัญชี และยังไม่พบเป็นหนี้เสีย แต่มีที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนอยู่ 65 บัญชี เป็นเงิน 2.27 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า โครงการพิโกไฟแนนซ์ รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการดึงเจ้าหนี้นอกระบบ หรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ เข้ามาขอใบอนุญาตปล่อยกู้แก่รายย่อยในเขตจังหวัดนั้นๆ อย่างถูกกฎหมาย กำหนดวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ย 36%

นายพรชัยกล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมี.ค.-ก.ย. 2560 ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ประชาชนนำสินเชื่อไปชดใช้หนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว 150,226 ราย เป็นเงิน 6,791 ล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชน 97,414 ราย เป็นเงิน 4,336.01 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 52,812 ราย เป็นเงิน 2,455 ล้านบาท

สำหรับการปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมของปีงบประมาณ 2560 ณ สิ้นเดือนส.ค. 2560 มีการจับกุมผู้กระทำผิด 1,499 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน