รายงานพิเศษ

วัลยา จิราธิวัฒน์

แม้เมื่อต้นปี 2560 เริ่มมีสัญญาณที่ดี จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐต่อเนื่อง ช่วยหนุนลงทุนเอกชน แต่ผ่านมาจนถึงไตรมาส 3 ของปี การลงทุนภาคเอกชนของไทยก็ยังไม่ได้แสดงภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก

เหตุผลหลักๆ คงเป็นเพราะความไม่ เชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แต่นั่นไม่สามารถต้านทานการลงทุนเอกชนไทยในฟากของค้าปลีกได้ ซึ่งที่ผ่านมายังใช้เงินลงทุนต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่การเปิดร้านขนาดเล็ก อย่างมินิมาร์ท สะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงโครงการระดับยักษ์ ที่มีเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุดสมาคมศูนย์การค้าไทยเผยแผนการลงทุนของกลุ่มสมาชิกสมาคมศูนย์การค้ารวมทั้งหมด 13 บริษัทในช่วงปลายปี 2560 ถึงปี 2562 มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 57,000 ล้านบาท เป็นงบทั้งพัฒนาโครงการใหม่ และปรับปรุงขยายพื้นที่โครงการเดิม

ส่งผลให้จะมีโครงการใหม่จากปัจจุบันที่มีอยู่ 97 ศูนย์การค้าเป็น 107 ศูนย์การค้าทั่วประเทศ และพื้นที่โครงการ จาก 19 ล้านตร.ม. เพิ่มเป็น 20.9 ล้านตร.ม. ภายในปี 2562 โดยเงินลงทุนในปี 2559 ถึง 2560 อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท

น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า การลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการช็อปปิ้งและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น

โครงการใหม่ขนาดใหญ่ที่จะเปิดในปลายปีนี้ ได้แก่ โครงการเซ็นทรัลพลาซา โคราช ที่มีมูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท จะเปิดบริการ 3 พ.ย. และเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย มูลค่า 4,750 ล้านบาท เปิด 23 พ.ย.นี้

“เราร่วมกันสร้างไลฟ์สไตล์แลนด์มาร์กใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย โดยอภิมหาโครงการใหญ่ที่จะสร้างปรากฏการณ์แลนด์มาร์กระดับโลกให้ประเทศไทย ด้วย 2 โครงการยักษ์ใหญ่ที่จะเปิดให้บริการในปี 2561 คือ เซ็นทรัล ภูเก็ต และไอคอนสยาม” น.ส.วัลยากล่าว และว่า

ทั้ง 2 โครงการมีมูลค่ารวมกว่า 70,000 ล้านบาท โดยโครงการเซ็นทรัล ภูเก็ต เป็นส่วนต่อขยายจากเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ตเดิม ทำใหม่ให้เป็นมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์ ระดับลักชัวรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูเก็ตของกลุ่มเซ็นทรัล มีพื้นที่รวมกว่า 110 ไร่ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย อาคารศูนย์การค้าทั้งหมด 3 อาคาร นับเป็นอาคารศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของโครงการเซ็นทรัล ภูเก็ต กำหนดเปิดช่วงเดือน ก.พ.ปี 2561

เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการสร้างแลนด์มาร์กระดับลักชัวรี่แห่งใหม่ ดึงดูดผู้คนทั่วโลกเช่นเดียวกับห้างหรูในยุโรป เนื่องจากภูเก็ตติดอันดับเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดปี 2560 จะสูงถึงประมาณ 20 ล้านคน เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับลักชัวรี่ ไลฟ์สไตล์

ส่วนโครงการไอคอนสยาม มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท เกิดจากการร่วมทุน ระหว่างบิ๊กของไทย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือซีพี ประกอบด้วย อาคารศูนย์การค้า 2 อาคาร มีห้างสรรพสินค้าทาคาชิมาย่า จากญี่ปุ่น สาขาแรกในประเทศไทย, ตลาดน้ำในร่ม, ศูนย์ประชุม, โรงภาพยนตร์, สวนสนุก, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ กำหนดเปิดเดือนต.ค.ปี 2561

ยังมีโครงการใหม่ที่น่าสนใจของปีหน้า อย่างเทอร์มินอล 21 พัทยา ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และเดอะมาร์เก็ต แบงค็อก ของกลุ่มแพลทินั่ม อีกหลายโครงการที่ปรับปรุงโฉมใหม่ครั้งใหญ่ อาทิ โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ จะทยอยเปิดโฉมใหม่เฟสแรกปลายปีนี้ และเต็มรูปแบบในปีหน้า รวมถึงโครงการ ปรับปรุงและขยายพื้นที่ของซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

โดยนายนพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการลงทุนในช่วง 3 ปีนี้ นับจาก ปี 2560-2562 จะใช้งบลงทุนประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ประกอบด้วย โครงการศูนย์การค้ามาร์เก็ตเพลส ทุ่งมหาเมฆ ขยายพื้นที่จาก 2 ไร่ เป็น 6 ไร่, มาร์เก็ตเพลส ทองหล่อ เพิ่มพื้นที่จาก 7 ไร่ เป็น 9 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ เมกะซิตี้ จะพัฒนาเฟสต่อขยายที่กำลังสร้างในส่วนของเอ็ดดูเทนเมนต์ โรงแรม และสำนักงานให้เช่า

น.ส.วัลยากล่าวต่อว่า ศูนย์การค้าไทยพร้อมจะลงทุนต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความ เร็วสูงในจังหวัดหลัก ตลอดจนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่มีหลายศูนย์การค้าหลายโครงการจะเข้าไปลงทุน

โครงการก่อสร้างระบบคมนาคมในนครราชสีมา เพื่อชูโคราชเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสาน ทางสมาชิกของสมาคมศูนย์การค้าจึงได้ลงทุนพัฒนาศูนย์การค้าต่างๆ ได้แก่ การเปิดตัวของโครงการ เซ็นทรัลพลาซา โคราช, เทอร์มินอล 21 โคราช และการขยายพื้นที่เพิ่มเติมของเดอะมอลล์ โคราช

ส่วนพื้นที่อีอีซีที่ชลบุรี (พัทยา) และระยอง มีโครงการเทอร์มินอล 21 พัทยา, เซ็นทรัล มารีนา และเซ็นทรัลพลาซา ระยอง ส่วนในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ย่านบางนา-สุวรรณภูมิ ที่เชื่อมต่อกับเขตอีอีซี ได้แก่โครงการเมกาซิตี้, ซีคอนซิตี้, แบงค็อกมอลล์

การร่วมกันลงทุนในจังหวัดต่างๆ ของศูนย์การค้า นอกจากจะเป็นแรงผลักดันให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการช็อปปิ้งและท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในอาเซียนแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะภาคค้าปลีกและศูนย์การค้า ถือเป็นภาคธุรกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่สอง หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีประเทศรองจากภาคอุตสาหกรรมที่รายได้ สูงที่สุด

นายกสมาคมศูนย์การค้าไทยยังกล่าวอีกว่า ธุรกิจศูนย์การค้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาศูนย์การค้าในระดับโลก ประเทศอื่นต้องมาศึกษาจากไทย เห็นได้จากที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้งาน ICSC RECON Asia-Pacific ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับโลกของวงการค้าปลีก เพราะให้ความ สำคัญกับศูนย์การค้าไทยอย่างมาก นับว่าธุรกิจค้าปลีกไทยได้ ก้าวสู่ตลาดอินเตอร์ระดับภูมิภาคแล้ว

ศูนย์การค้าไทยกำลังร่วมกันพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีก สู่ยุคของการเป็น “ช็อปปิ้ง เซ็นเตอร์ 4.0” ตามนโยบายของสมาคม โดยมีทิศทางดำเนินการหลักคือ ให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ด้วยการออกแบบศูนย์การค้า และปรับรูปแบบการให้บริการให้ทันไลฟ์สไตล์ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภค เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางการช็อปปิ้ง และท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในอาเซียนได้ในอนาคต

เพราะท้ายสุดแล้วผลพ่วงจากการลงทุนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเป็นดาวเด่นของภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน