ราคาข้าว-น้ำมัน-ค่าไฟ ฉุดเงินเฟ้อติดลบ 0.34% ทั้งปียังมีหวังบวก 1.2% ระบุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาถูกทาง

เงินเฟ้อติดลบ 0.34% – นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. 2564 ว่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.34% เป็นการหดตัวต่อเนื่องจาก 0.27% ในเดือนธ.ค. 2563 โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่ยังต่ำกว่าปีก่อน ลดลง 4.82% การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนถึงเดือนเม.ย. และราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียวที่ยังลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ตามปริมาณผลผลิตที่กลับเข้าสู่ปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเหมือนปีก่อน ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังทรงตัว สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวตามกลไกการตลาดของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.21% จากปีที่ผ่านมา ส่วนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก และการระบาดระลอกใหม่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนม.ค.

ทั้งนี้ เดือนม.ค. 2564 สินค้าหลักในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ นั้น ราคาเพิ่มขึ้น 229 รายการ ลดลง 129 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 72 รายการ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนม.ค. 2564 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2 จากระดับ 46.3 ในเดือนธ.ค. ปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 39.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 47.7

นางพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนก.พ. 2564 คาดว่ายังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนก.พ.เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ยังมีแนวโน้มหดตัว

ส่วนเงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% บนสมมุติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยขยายตัว 3.5-4.5% นำมันดูไบ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงิน 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการของรัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ ถือว่ามาถูกทางเพราะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น ทำให้กำลังซื้อกลุ่มนี้หายไป และหวังว่าการเริ่มฉีดวัคซีนจะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว

ทั้งนี้ เดือนม.ค. 2564 สนค. ได้ปรับปีฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) และดัชนีราคาผู้ผลิต ตามปกติปรับทุก 4-5 ปีโดยดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับเป็นปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเป็นปีฐาน 2558

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน