นายศักดิ์ชัย อรุณรักถาวร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง สายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองตั้งเป้าจะปรับเคาน์เตอร์เช็กอิน ที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 หรืออาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศจากระบบเช็กอินเฉพาะของแต่ละสายการบินให้เป็นระบบเช็กอินร่วม (Common) ทั้งหมดภายในเทศกาลปีใหม่นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเช็กอินของผู้โดยสารให้มีสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ ระบบเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมแบบใหม่จะนำซอฟต์แวร์ชื่อ Sitar ซึ่งมีความยืดหยุ่น มาใช้รองรับข้อมูลของสายการบินทุกแห่ง ส่งผลให้สายการบินทั้งหมดสามารถใช้เคาน์เตอร์เช็กอินร่วมกันได้ โดยเมื่อสายการบินแต่ละแห่งจะใช้งานเคาน์เตอร์เช็กอิน ก็ต้องกรอกรหัสของตัวเองบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่เช็กอิน ลำเลียงกระเป๋า และติดตามผู้โดยสารจนถึงขึ้นเครื่อง ถ้าจบภารกิจแล้วก็ออกจากระบบ และเปิดให้สายการบินอื่นใช้งานเคาน์เตอร์ต่อได้

แตกต่างจากปัจจุบันที่สายการบินแต่ละแห่งจะมีระบบซอฟต์แวร์และเคาน์เตอร์เช็กอินเป็นของตัวเอง เมื่อเคาน์เตอร์ของสายการบินใดแออัด ก็ไม่สามารถยืดหยุ่นไปใช้เคาน์เตอร์ของสายการบินอื่นที่มีผู้โดยสารน้อยกว่าได้ เพราะใช้ระบบซอฟต์แวร์แตกต่างกัน

นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองมีเคาน์เตอร์เช็กอินในอาคารผู้โดยสารแห่ง 1 ทั้งหมด 8 แถว ซึ่งขณะนี้เริ่มเปิดให้บริการระบบเช็กอินร่วมแล้วในแถวที่ 3 และ 5 โดยสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส นำร่องเปิดให้บริการเป็นรายแรก

ด้านสายการบินไทยไลอ้อนแอร์แจ้งแสดงความประสงค์จะเปิดให้บริการเป็นรายที่ 2 เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร เนื่องจากเคาน์เตอร์เช็กอินของไทยไลอ้อนแอร์ในแถวที่ 8 มีสภาพค่อนข้างแออัด เพราะตารางบินของไทยไลอ้อนแอร์มีเวลาใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีสายการบินอีกหลายรายโดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนระบบเป็นเช็กอินร่วมโดยให้เหตุผลว่าได้ลงทุนติดตั้งระบบเช็กอินแบบเดิมไปแล้วและยังไม่คืนทุนจึงไม่ต้องการลงทุนใหม่ รวมทั้งระบบเช็กอินแบบใหม่ สายการบินยังจะต้องจ่ายค่าใช้บริการระบบใหม่ให้กับ สนามบินเพิ่มอีกในอัตรา 16 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคน

ทอท. จึงพยายามเชิญชวนและหามาตรการจูงใจสายการบินที่เหลือ เพราะเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการ ไม่สามารถบังคับเอกชนได้ พร้อมมองว่าค่าธรรมเนียมในอัตรา 16 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งรายไม่สูงนัก หากเทียบกับราคาบัตรโดยสารที่เริ่มต้นจาก 700 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ระบบเคาน์เตอร์ร่วมจะช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและทำให้ท่าอากาศยานดำเนินการได้ดีขึ้นในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองขยายตัวในอัตราสูงมาก โดยขณะนี้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสารถึง 30 ล้านคนต่อปีและมีอัตราเติบโตถึง 20% ต่อปี ซึ่งผู้โดยสารระหว่างประเทศมีสัดส่วน 30% ของผู้โดยสารทั้งหมดและมีสายการบินระหว่างประเทศให้บริการ 7-8 ราย ซึ่งมีทั้งแบบประจำและเช่าเหมาลำ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน