นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe for future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” ว่า ยอมรับภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาติดลบประมาณ 10% ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง และการสำรองไฟฟ้ามีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่จะต้องมี 15-20% แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความผ่อนคลายของสถานการณ์ต่างๆ มีมากขึ้น โดยจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามมา และในอนาคตปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีอยู่อาจจะน้อยเกินไป เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศส่วนใหญ่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน อาทิ การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

ขณะเดียวกันที่มีกระแสถึงเรื่องการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงโดยแนวทางของประเทศไทยการดำเนินนโยบายเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (คาร์บอน นิวทรัล) จะต้องมีการพูดคุยกันถึงศักยภาพที่มีอยู่ และความพร้อมของการปรับตัว ซึ่งต่อจากนี้กระทรวงพลังงานจำเป็นจะต้องมีการหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวโดยจะยกให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ตามกรอบความร่วมมือ (MOU) ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาว ที่เหลืออยู่อีกประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ จากแผนทั้งหมด 9,000 เมกะวัตต์นั้น ก็ต้องศึกษาความคุ้มค่าและความเหมาะสมก่อน ซึ่งยอมรับว่าเป็นพลังานสะอาดที่มีความต้องการอยู่แล้ว และถ้าไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของประเทศ ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธ

ขณะที่กรณีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ของกองทัพบก (ทบ.) ที่คาดว่าจะมีศักยภาพถึง 30,000 เมกะวัตต์ จะถูกบรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติด้วยหรือไม่นั้น จำเป็นต้องรอผลการศึกษา เพราะโครงการดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น ยังจำเป็นต้องบูรณาการกับทุกฝ่าย โดยปัจจุบันแผนพลังงานแห่งชาติอยู่ในขั้นตอนเริ่มจัดรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย โดยคาดว่าในเดือนพ.ค. จะจัดสัมมนาใหญ่รับฟังความเห็นประชาชน เพื่อรวบรวมและสรุปผลก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประมาณปลายเดือนมิ.ย. 2564 ต่อไป

“โซลาร์ฟาร์มของทบ. ที่ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่อง ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี จำนวน 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของ ทบ. เป็นโครงการเพื่อการศึกษาศักยภาพเท่านั้น ผมว่าหลายๆ หน่วยงานในไทยมีความปารถณาดี เช่นเดียวกับโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ขณะนี้จะนำร่อง 500 เมกะวัตต์ ก็ต้องมาศึกษาถึงความเหมาะสมร่วมกันอีกครั้ง”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการจัดงานดังกล่าวว่า กฟผ. ได้ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประกาศเจนารมณ์ ในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” ซึ่งปัจจุบันกฟผ. ได้มุ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนพลังงานสะอาด ทั้ง โซลาร์ลอยน้ำ รถอีวี เป็นต้น โดยล่าสุด รมว.พลังงาน มอบหมายให้พิจารณาแนวทางส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในการปรุงอาหาร และลดภาระการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน