ชี้งบลงทุนปี’65 ต่ำกว่างบขาดดุลรัฐเตรียมชี้แจงสภาทำไม่ได้ตามกฏหมายกำหนด

งบลงทุนปี’65 ต่ำกว่าขาดดุล – นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรายละเอียดประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หลังจากสำนักงบฯ ได้ปรับวงเงินคำขอของทุกหน่วยงานที่เสนอมามากถึง 5.27 ล้านล้านบาท เหลือตาม 3.1 ล้านล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่ครม. เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ โดยวงเงินที่ปรับลดลงครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐต้องจัดสรรลงไปให้กับประชาชนตามปกติทั้ง เบี้ยเด็กแรกเกิด เบี้ยคนชรา และเบี้ยคนพิการ รวมไปถึงค่าอาหารกลางวันเด็กที่เพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะวงเงินในส่วนนี้ได้กันเอาไว้แล้วอยู่ในส่วนงบประจำ ซึ่งมีวงเงินอยู่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

“รายการที่ต้องมีวงเงินลดลงนั้น ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ ที่สามารลดลง หรือชะลอลงได้ แต่ไม่ได้กระทบกับสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว โดยเฉพาะเบี้ยคนพิการ ซึ่งได้ปรับเพิ่มขึ้นให้แต่จะได้เฉพาะคนพิการที่ถือบัตรสวัสดิการก่อน จากนั้นจึงขยายไปยังคนพิการอื่นๆ ต่อไป ซึ่งถ้าปีหน้าถ้าเศรษฐกิจกลับมาปรับตัวดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณการที่ตั้งไว้ 2.4 ล้านล้านบาท ก็อาจมีงบกลางปี โดย รมว.คลัง จะขอไปดูแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ รวมทั้งเศรษฐกิจปีหน้าด้วย”

นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ภายหลังหน่วยงานต่างๆ นำงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เข้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 มี.ค. 2563 เพื่อเห็นชอบ และประมาณเดือนพ.ค. จะนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา โดยในการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการรายงานงบลงทุนที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 20 กำหนดให้ งบลงทุนในแต่ละปีต้องไม่น้อยกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณ

และต้องไม่น้อยกว่างบขาดดุลที่กำหนดไว้ โดยปี 2565 รัฐบาลทำงบขาดดุลไว้ที่ 7 แสนล้านบาท แต่งบลงทุนปีงบประมาณ 2565 กำหนดไว้จํานวน 6.24 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จํานวน 24,910.3 ล้านบาท หรือลดลง 3.84% และคิดเป็นสัดส่วน 20.14% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเกิดจากงบรายจ่ายประจำที่กำหนดไว้เบียดงบลงทุนทำให้ลดน้อยลง
สถานการณ์งบลงทุนต่ำกว่าตัวเลขการขาดดุลของประเทศ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ปรับฐานนานกว่า 2 ปี โดยรายจ่ายภาครัฐในปี 2565 ส่วนใหญ่ลดลง รวมทั้งงบนายกรัฐมนตรีเหลือแค่ 8.9 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2564 มากพอสมควร

ตามโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2565 กำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% แยกเป็น รายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท ลดลง 1.77 แสนล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 596 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% หลังจากปีก่อนไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบส่วนนี้เอาไว้ ต่อมาคือ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% เช่นกัน ส่วนรายจ่ายลงทุนมี 624,399 ล้านบาท ลดลง 24,399 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม งบประมาณปี 2565 นั้น ถือเป็นการจัดทำงบประมาณที่มีรายจ่ายลงทุนที่น้อยกว่าเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาครม. จึงเห็นชอบให้พิจารณารายจ่ายลงทุนเพิ่มเติมจากแหล่งเงินทุนของประเทศในช่องทางอื่นๆ ทั้ง การให้เอกชนเข้าร่วมในกิจการของรัฐ (พีพีพี) และการลงทุนของหน่วยงานในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ รวมทั้งพิจารณาการใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน