นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เรื่อง “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ว่าการลงนามดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิตอลของประเทศไทย โดยมีกรอบความร่วมมือที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

1. สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) จากการจัดตั้งหัวเว่ย อาเซียน อคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่อีอีซี มีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิตอลของไทย 2. สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5G ไปเกิดประโยชน์สูงสุด 3. การฝึกอบรมเสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี และ 4. สร้างการรับรองมาตรฐาน อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดย สกพอ. มอบหมายให้คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HOC) ร่วมกับ หัวเว่ย ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิตอลแก่นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิตอล จำนวน 6,000 คน และตั้งเป้าว่าจนถึงปี 2567 จะเพิ่มขึ้นถึง 30,000 คน

นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่การเปิดตัวหัวเว่ย อาเซียน อคาเดมี นั้น เป็นเรื่องที่ยืนยันว่าประเทศไทยจะมีการบ่มเพาะบุคลากรมากความสามารถได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในสาขาการจัดการการสื่อสารและสาขาเชิงเทคนิค ช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมข้อมูลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างตันแบบใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน