นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. เตรียมหารือกับ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันภัยไทย เพื่อร่วมยกร่าง และศึกษารายละเอียดและรูปแบบการประกันภัยผลผลิตด้านการเกษตร ก่อนที่จะนำเสนอสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้สามารถดำเนินการได้ในปี 2564 นี้

ทั้งนี้ สศก. ศึกษาโมเดลประกันภัยผลผลิตด้านการเกษตร จากหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ มาปรับปรุงให้เข้ากับเกษตรกรไทย อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนความเสี่ยงที่อาจเกิดต่องบประมาณรัฐ จากการช่วยเหลือภัยพิบัติด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยตั้งแต่ปี 2551 – 2562 มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 9,508,047 ราย เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมเป็นเงิน 107,280.949 ล้านบาท

ปัจจุบันประเทศไทยมีครัวเรือนเกษตร 8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนเกษตรกรประมาณ 29.82 ล้านคน โดยปัญหาของเกษตรกร นอกเหนือจากปัญหาด้านการผลิต การตลาด และราคาแล้ว ยังประสบปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำท่วม ภัยแล้ง และแมลงศัตรูพืช ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการชดเชยเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมากกว่าแสนล้านทุกปี

“สศก. ร่วมกับเอกชน ผลักดันให้เกิดการประกันภัยภาคสมัครใจ ให้ประกันเอกชนรับความเสี่ยงแทนรัฐบาล เป้าหมายการทำประกันจะเริ่มที่ 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด การชำระเบี้ยประกันจะร่วมกันจ่าย ระหว่าง รัฐบาล ท้องถิ่น เกษตรกร โดยรัฐบาลจ่าย 85% ท้องถิ่น 10% และเกษตรกรจ่าย 5% ของเบี้ยประกัน โดยความคุ้มครองที่ได้นอกจากจะคุ้มครองพืชเกษตรที่ทำประกัน ยังมีประกัน ชีวิต และประกันสุขภาพให้กับเกษตรกรด้วย โดยอาจจ่ายเพิ่มเพียงหลัก 200-300 บาท”

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ตั้งเป้าจะเริ่มรับประกันภัยผลผลิตด้านการเกษตร ในพืชข้าวก่อนผลผลิตอื่น เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่ากลุ่มอื่น จุดเด่นของการประกันภัย คือเมื่อประสบเหตุ น้ำท่วม น้ำแล้ง ภัยธรรมชาติอื่น เกษตรกรจะได้รับการเคลมประกัน ชดเชยค่าเสียหายได้รวดเร็ว ไม่ต้องเบิกจ่ายตามระบบราชการ ที่อาจล่าช้า การบริหารจัดการงบประมาณรัฐ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสศก. ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 กลุ่มเป้าหมายแรกๆในการรับประกัน จะเริ่มจากสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ที่มีประมาณ 2 หมื่นราย วิสาหกิจชุมชน มีประมาณ 8-9 หมื่นแห่ง และรวมไปถึงเกษตรกรแปลงใหญ่ อีกจำนวนไม่น้อย โดย นโยบายของรัฐต้องการขยายการประกันภัยสินค้าเกษตรที่มีอยู่ให้ครอบคลุมทกชนิดสินค้าทั่วประเทศ และขณะนี้มีการประกันภัยที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชน แล้วเช่น ทุเรียน ลำไย โคเนื้อ และโคนม แต่ทำเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน