ผลสำรวจแรงงานไทยอ่วมหนี้พุ่ง เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อครัวเรือน รายได้ไม่พอใช้จ่าย ส่งสัญญาณผิดชำระหนนี้ พิษโควิดหวั่นตกงาน ส่วนใหญ่ไร้เงินเก็บ
วันที่ 27 เม.ย.64 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงสถานภาพแรงงานไทยปี 2564 กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,256 ตัวอย่าง ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย. 2564 พบผลการสำรวจที่น่าสนใจคือ
ผลสำรวจแรงงานไทยหนี้พุ่ง
กลุ่มตัวอย่าง 98.1% มีหนี้สินครัวเรือน เฉลี่ยต่อครัวเรือน 205,809.81 ผ่อนชำระรวม 8,024.47 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นหนี้สินในระบบ 71.6% ผ่อนชำระต่อเดือน 7,781.31 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ย 11.25%ต่อปี นอกระบบ 28.4% ผ่อน 3,223.02 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 19.00% ต่อเดือน
โดยเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การชำระหนี้เก่า ส่งผลทำให้สภาพคล่องของแรงงานลดลง มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายจนต้องมีการก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้หนี้ของแรงงานในปีนี้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 29.56% ส่งผลต่อเงินสะพัดในช่วงวันแรงงานปีนี้เหลือ 1,790 ล้านบาท ลดลง 19.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือปี 2562 กับปี 2564 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในปี 2562 ใช้จ่ายเท่าเดิม 50.1% จำนวนปริมาณการซื้อ ส่วนใหญ่น้อยลง 49.1%
ส่วนปีนี้มูลค่าการใช้จ่ายกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 65.1% ตอบมูลค่าใช้จ่ายน้อยลง จำนวนปริมาณการซื้อส่วนใหญ่ กลุ่มตัวอย่าง 66.4% ตอบว่าน้อยลง ทั้งนี้ไม่มีการสำรวจในปี 2563 เนื่องจากมีการใช้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์จึงไม่มีการสำรวจ และ66.3%ระบุว่าบรรยากาศวันแรงงานปีนี้จะไม่คึกคัก
โดยสอดคล้องกับทัศนะของแรงงานที่มีต่องานที่ทำในปัจจุบันว่าไม่มีความมั่นคง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีอาชีพรับจ้างได้เงินเป็นรายเดือน และผู้ที่รับจ้างรายวัน รายสัปดาห์ รับเป็นชิ้นงาน และส่วนใหญ่จะเร่งหางานใหม่ทำก่อนจะออกจากงานเดิม
โดย 58.2% ระบุว่าเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่เกิน 3 เดือน 4-6 เดือน 25.9% ระยะเวลา 7-9 เดือน 2.4% ระยะเวลา 10-12เดือน 2.6% มากกว่า 12 เดือน 2.6% และโดยเฉลี่ยอยู่ได้ 4.6 เดือน
เผยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บ
สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า การเก็บออมในปัจจุบันของแรงงานพบว่า 67.6% ไม่มีเงินเก็บ มีเพียง 32.4% ที่มีเงินเก็บและเก็บเพียง 9.14% ของรายได้ลดลงจากปี 2562 ที่มีการเก็บ 14.9% ของรายได้ โดยปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างระบุการเก็บออมแบ่งเป็นต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน 9.0% เก็บ 500-1,000 บาท 57.4% เก็บ 1,001-2,500 บาท 28.7% เก็บ 2,501-5,000 บาท 4.9% รวมเฉลี่ยต่อเดือนเก็บออม 896.93 บาทต่อเดือน
โดยกลุ่มแรงงานยังมีความกังวลต่อประเด็นต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจของประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 การไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ราคาสินค้าในปัจจุบัน ราคาสินค้าในอนาคต รายได้ปัจจุบัน การตกงานน รายได้ในอนาคต การชำระหนี้ที่อาจไม่เพียงพอ เป็นต้น
“พบอีกว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากลุ่มตัวอย่างเคยผิดนัดชำระหนี้ 85.1% โดยระบุสาเหตุที่ต้องผิดนัดชำระหนี้คือขาดสภาพคล่อง รายจ่ายเพิ่ม เงินไม่พอจ่าย รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่สถานภาพทางการเงินของแรงงานกรณีที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน 71.5% ระบุมีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย
สาเหตุมาจากภาระหนี้สินมากขึ้น 24.5% ราคาสินค้าแพงขึ้น 23.0% รายได้ไม่เพิ่ม 16.9% อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 13.6% มีของที่ต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 13.6% รายได้ลดลง 8.2% และแก้ไขปัญหาด้วยการกู้ยืมเงินในระบบ 47.2% นอกระบบ 13.6% นำเงินออมออกมาใช้ 12.0% ขายจำนำสินทรัพย์ที่มี 12.3% ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 9.6% หาอาชีพเสริม 5.3%
แรงงาน ส่วนใหญ่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด
และพบว่า สถานภาพทางการเงินของแรงงาน กรณีใช้จ่ายอย่างไรเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ พบว่า ใช้จ่ายเท่ากับรายได้ 44.8% ระบุว่า ใช้จ่ายอย่างประหยัด วางแผนการใช้จ่าย การระบาดของโควิด -19 ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ 35.3% โดยระบุว่า ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่อยากเป็นหนี้ เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ 19.9% โดยระบุว่ามีการใช้จ่ายอยู่เป็นประจำ รายได้ไม่พอ หนี้สินมาก ภาระค่าใช้จ่ายสูง” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดยแรงงานต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในด้านหนี้สินครัวเรือนจากมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์โควิด 86.05% ลดอัตราดอกเบี้ย 13.95% ช่วยเหลือภาระค่าครองชีพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งคนละครึ่ง 41.29% เราชนะ 22.39% ม.33 เรารักกัน 17.41% เราไม่ทิ้งกัน 10.95% บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 6.47% ลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า 1.49%
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับความพร้อมของการรับวัคซีนส่วนใหญ่ 42.0% มีความพร้อมมาก 29.9% ปานกลาง 19.5% ระบุมีความพร้อมน้อย 19.5% ไม่พร้อมเลย 8.6% โดยกลุ่มที่ระบุว่าพร้อมน้อยและไม่พร้อมเลยระบุว่kกลัวมีอาการแพ้กลัวมีผลข้างเคียง กังวลเรื่องคุณภาพวัคซีน
อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวใหญ่ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้ อย่างไรก็ตาม 64.0% กลุ่มตัวอย่างไม่มีประกันโควิด-19 ส่วนประเด็นที่รัฐบาลควรดูแลให้กับแรงงานนคือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เงินช่วยเหลือแรงงาน การว่างงาน หนี้สินแรงงาน ค่าครองชีพ การรับรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนเป็นต้น